Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 23 ประจำปี 2548


เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 23 ประจำปี 2548 เรื่อง”การดำเนินธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม”` อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก กรณีศึกษาแกรมมี่เข้ามาซื้อหุ้นเครือมติชน และโพสต์ ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นนักกฎหมาย และนักวิจัยจากสกว. ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง

“ไชยวัฒน์ บุนนาค” กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฏหมายสากล นักวิจัยโครงการ การศึกษาเพื่อปฏิรูปกฏหมายเศรษฐกิจของประเทศ สกว. ตั้งโจทย์ในการดำเนินธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองของนักกฏหมายเห็นว่า ประเด็นปัญหาของสังคมในปัจจุบันคือ องค์กรธุรกิจควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหนเพียงใด ถ้าถามคำถามนี้เมื่อ 40 ปีก่อนก็ต้องบอกว่าเชย นายทุนคิดว่าจะทำธุรกิจแล้วมายุ่งอะไรกับสังคม บริษัทมีหน้าที่ต้องทำกำไรให้กับผู้ลงทุน หรือผู้ถือหุ้น

แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เมื่อ 40 ปีก่อนเวลาจะร่างสัญญาอะไรจะต้องดูจากประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับเดียว แต่ปัจจุบันกระแสสังคมก่อให้เกิดการผลักดันให้มีกฏหมายมาควบคุมการประกอบธุรกิจมากกว่าประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด องค์กรธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มผู้ลงทุน เช่น ลูกจ้าง ผู้บริโภค หรือแม้แต่เจ้าหนี้ด้วยกันเท่นั้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดกฏหมายใหม่ๆขึ้นหลายฉบับ เช่น กฏหมายแรงงาน กฏหมายแรงงานสัมพันธ์ กฏหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้เข้ามาสอดแทรกเข้าในการประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ จึงดูเฉพาะข้อบังคับในกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดูเฉพาะวัตถุประสงค์ และนโยบายของบริษัทอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูกระแสสังคมด้วย

ถ้าจะถาม ณ ปัจจุบันสำหรับบริษัทไม่บริษัท จำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เราเรียกว่าบริษัทเอกชน หรือว่าเป็นบริษัทมหาชนจำกัด วัตถุประสงค์หลักก่อตั้งขึ้นเพื่อทำอะไร คงต้องตอบแบบเดิม คือวัตถุประสงค์หลักคือทำกำไร เพราะว่ามีประโยชน์ได้เสียของผู้ลงทุนที่ต้องดูแล ฉะนั้นในแง่ของการบริหารจัดการ ก็ต้องดูแลให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ โดยมีกำไรเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้ตามสำคัญ มิเช่นนั้นผู้บริหารบริษัทก็จะเป็นผู้กระทำผิดหน้าที่

แต่ในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบันก็บังคับให้ดูเฉพาะที่กำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะถูกบอยคอตจากผู้บริโภค หากทำอะไรเป็นที่ขัดหู ขัดตาของผู้บริโภค

“ไชยวัฒน์”กล่าวต่อไปว่า หากการบริหารจัดการไม่โปร่งใสก็จะไม่มีใครมาลงทุน ฉะนั้นจึงเกิดความคิดในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดี เพิ่มเติมจากสิ่งที่กฎหมายบังคับว่าทำอย่างไรผู้ที่มีอำนาจจะบริหารงานที่สุจริตโปร่งใส เป็นตัวเพิ่มคุณค่าให้กับบริษัทในแง่ของสายตาของผู้ลงทุนทั่วไปด้วย

ในแง่การจัดลำดับความสำคัญของบริษัทจะให้ใครมาก่อนหลัง ผู้ลงทุน พนักงานบริษัท ลูกค้า หรือสังคมโดยรวม ตรงนี้หากจะตอบตามกฎหมายก็ต้องเป็นผู้ถือหุ้นก่อนพนักงานบริษัทแน่นอน เพราะการดำเนินธุรกิจในรูปของบริษัทมหาชนจำกัดหากเน้นเรื่องนโยบายทางสังคมมากเกินไป ในแง่ธุรกิจถือว่าล้มเหลว แต่ในแง่สังคมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

ในสังคมมีกฎอยู่ 2 อย่าง คือ กฎหมายกับกฏของสังคม ในช่วงที่ผ่านมากระแสสังคมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องของกฏหมาย หลายครั้งก็เกิดจากกระแสสังคม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายในหลายครั้งขึ้นอยู่กับกระแสของสังคมด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นกระแสสังคมจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างกันและกัน

พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดที่หลายคนหยิบยกมาพูดกัน ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะมาตราที่ระบุว่าให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ หรือการให้มีผู้แทนในคณะกรรมการได้ 1 คนนั้นขณะนี้ยังไม่มีการบังคับ โดยทั่วไปทางการอนุญาตให้เขียนข้อบังคับไปทางอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องถือคะแนนเสียงที่มีอยู่เสมือนเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฏหมายแพ่ง

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บริษัทมหาชนส่วนใหญ่ยังไม่เป็นมหาชนจริงๆ ตามความหมายสากล คือยังมีลูกเล่นอยู่มาก สร้างชื่อเป็นบริษัทมหาชน แต่การควบคุม การบริหารงานยังยึดติดกับรูปแบบของบริษัทเอกชนอยู่ เพราะยังมีกลุ่มทุนใหญ่กลุ่มเดิมถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้กลไกลที่ให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยโหวตเพื่อส่งตัวแทนไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการได้

กรณีของมติชนหากพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะเห็นว่า เป็นรูปแบบของธุรกิจ เมื่อมีการนำหุ้นไปวางขายในตลาด ฉะนั้นใครก็ซื้อได้ และตราบใดเมื่อฝ่ายซื้อปฏิบัติตามกติกา ฝ่ายที่ถูกซื้อก็จะทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกอย่างอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด

กฎหมายจะให้การคุ้มครองได้ก็เฉพาะกรณีที่มีการบอกให้สาธารณะชนได้รับทราบ เช่น ซื้อหุ้น 5 % ขึ้นไปจะต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อหุ้นตั้งแต่ 25 %ขึ้นไปจะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ฉะนั้นถ้าสื่อมวลชนประกอบกิจการในรูปของบริษัทมหาชน ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกติกา

แต่หากถามว่ามีวิธีป้องกันไม่ให้ถูกเทคโอเวอร์ในลักษณะเช่นนี้อย่างไรบ้าง มีแน่นอน เช่น ตั้งเป็นบริษัทเอกชน ไม่ขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไป จะสามารถป้องกันการเทคโอเวอร์อย่างมีประสิทธิผล เขียนไว้ข้อบังคับจำกัดการโอนหุ้นได้ แต่หากตั้งเป็นมหาชนแล้วจะไปห้ามคนอื่นซื้อคงไม่ได้

“หากสื่อขนาดใหญ่ยังต้องการระดมทุนจากสาธารณะ โดยตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะถ้าเรามองว่าสื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน ก็อาจจะกำหนดแยกความเป็นเจ้าของกับอำนาจควบคุมออกจากกันได้ ยกตัวอย่างเช่น สามารถเป็นบริษัทมหาชนได้ แต่ในคณะกรรมการของบริษัทอาจจะแก้กฎหมายให้ฝ่ายบรรณาธิการเป็นกรรมการมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตรงนี้อาจจะช่วยได้บ้าง แต่ก็ต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วคนจะมาซื้อหุ้นจะยอมซื้อหรือไม่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรื่องของ CSR เป็นประเด็นที่มีคนตั้งคำถามเยอะ ทำไมบริษัทต้องรับผิดชอบต่อสังคม

ด้าน “พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” หัวหน้าโครงการวิจัย ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม สกว. มองว่า คำว่า CSR ที่ย่อมาจาก Corporate Social Responsivility เพิ่งพูดในแวดวงธุรกิจเมื่อไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง แต่วันนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันค่อนข้างมาก แต่ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า CSR ที่บริษัทต่างๆพูดถึงกัน อันไหนเป็นของจริง อันไหนเป็น CSR ที่มุ่งหวังทางการตลาดและมีประโยชน์ต่อองค์กร

ถ้าดูจากคำนิยามของ CSR ที่หมายถึง ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท จะมีได้ทั้ง กิจกรรมที่เกิดขึ้นทางธุรกิจ และกิจกรรมที่องค์กรธุรกิจไปดำเนินการต่อสังคม ซึ่งจะมีทั้งสังคมใกล้และสังคมไกล

สังคมใกล้ จะเกี่ยวข้องกับผู้มีผลประโยชน์โดยตรงคือ ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคมไกลออกมาหน่อย คือ ผู้บริโภค คู่แข่งทางธุรกิจ ซึ่งอาจจะไม่มีผลประโยชน์โดยตรงกับองค์กรธุรกิจ

จากการศึกษาเรื่อง CSR เห็นได้ขัดว่า จริง ๆแล้ว CSR ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระแสผลักดันในเชิงลบเพียงอย่างเดียว เพราะมาจาก 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากกระแสผลักดันในเชิงบวก นั่นคือองค์กรธุรกิจหลายแห่งในประเทศไทยเกิดขึ้นมาโดยมุ่งหวังด้านอุดมคติ มีความพยายามทำกิจกรรมขององค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

ฉะนั้นจะเห็นองค์กรหลายแห่งที่ออกมาพูดว่าเขาไม่ต้องการจะสร้างองค์กรเพื่อผลกำไรสูงสุดดั่งที่เป็นปรัชญาธุรกิจในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันกระแสผลักดันเชิงลบก็ยังมีอยู่ เช่น หลายบริษัทในตลาดจำเป็นต้องทำเรื่องธรรมาภิบาล ต้องมีการตัดสินใจอะไรบางอย่างเนื่องจากสังคมเป็นตัวกระตุ้นหรือไปบีบคั้น ตรงนี้ชัดเจนว่า CSR เกิดจากการผลักดันเชิงลบ หากประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับเป็นธรรมก็อาจจะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น เพื่อให้องค์กรนั้นเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ถามว่า รูปแบบหรือความสำคัญของ CSR มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร ถ้ามองในมุมของธุรกิจที่ผ่านมาจะเห็นว่าทฤษฏีหรือแนวคิดทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ผู้บริหารมักสื่อสารต่อสาธารณชนเสมอๆ คือ เราจะต้องใช้ บอสตันโมเดล แม้กระทั่งในภาคการเมืองก็ยังพูดถึงทฤษฏีเหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าองค์กรธุรกิจที่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ ล้วนแต่มุ่งไปสู่การพัฒนาองค์กร

แต่ CSR ที่พูดถึงในที่นี้ มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่องค์กรที่ดี ซึ่งระหว่างองค์กรที่เก่งกับองค์กรที่ดีนั้นต่างกันมาก

องค์กรหลายแห่งในปัจจุบันกำลังนำเรื่อง CSR มาเป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด และยิ่งกว่านั้นบางองค์กรนำเรื่อง CSR มาเป็นเรื่องกีดกันทางการค้าด้วย

หากจะพูดว่า CSR แท้หรือเทียมมีมากกว่ากันในสังคมไทย คงต้องตอบว่าสัดส่วนเท่าๆ กัน เท่าที่มีได้สัมผัสพบว่าหลายบริษัทมักจะอยู่เบื้องหลัง ไม่มีการประกาศว่าเอาองค์กรธุรกิจไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

กฎหมายจะต้องมีทั้งที่ปกป้องคนดีและการบังคับใช้กับคนที่ละเมิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้น โดยลึกๆ แล้วคิดว่าทุกคนคงไม่อยากที่จะดำเนินการไปจนถึงมาตรการสุดท้ายที่จะต้องเอาเรื่องกฎหมายมาเป็นข้อพิจารณา

ประเด็นของสื่อสารมวลชนในเรื่องของการตั้งบริษัทมหาชนที่จะพยายามปกป้องการครอบงำกิจการ ก็มีบริบทในแง่การปฏิบัติหากอยู่ คือ อาจจะต้องแยกระหว่างผู้ถือหุ้นกับกองบรรณาธิการ และความน่าสนใจของบริษัทในตลาดตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก

หากถามว่าวันนี้มติชนกับโพสต์จะเป็นตัวหลักในการสร้างแคมเปญหนึ่งออกมาได้ไหม เช่น บอกว่า จากนี้ต่อไปอีก 1 เดือน ทุก 1 บาทที่ผู้บริโภคซื้อหนังสือพิมพ์ทางมติชนกับบางกอกโพสต์จะนำ 1 บาทที่ได้รับมาตั้งเป็นกองทุนในการที่จะปกป้องหรือในการพยายามแก้ไขประเด็นเรื่องการครอบงำกิจการได้ไหม

ซึ่งหากไม่มีประเด็นปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต องค์กรสื่ออาจจะนำผลิตผลตรงนี้ไปสร้างกิจกรรมทางสังคมอย่างอื่นได้

คำว่าเศรษฐกิจทุนนิยมจึงไม่ใช่คำตอบของการที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข อย่างยั่งยืนยังมีอีกหลายปรัชญา ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยืนหยัดหามาตรการของการร่วมกันที่จะไม่ยอมจำนนให้กับระบบทุนนิยมเสรี

“ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร” นักวิชาการด้านกฎหมายลงทุน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมีความสัมพันธ์กับกฎหมาย คือ จริงๆ แล้วกฎหมายเอื้อต่อการทำให้ภาคธุรกิจเข้ามาเป็นเอ็นจีโอได้ง่ายมาก แต่การที่ภาคธุรกิจมีจิตสำนึกหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ กฎหมายที่จะออกมาให้นักธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภควันนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน ตัวรายละเอียดยังไม่มี

จากการวิจัยและประสบการณ์การสอนหนังสือในเรื่องของกฎหมายในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม พอสรุปได้ว่าเมื่อภาคธุรกิจไม่รับผิดชอบต่อสังคม กฎหมายก็ต้องออกมาบังคับ แล้วกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสภาฯเสมอไป บางครั้งเป็นกฎหมายระดับปกครองก็สามารถนำมาบังคับใช้ได้ จะเห็นว่าความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจนั้นวันนี้เกิดขึ้นมากมาย

จากงานวิจัยมีสื่อหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าสื่อมีการปรับตัว เรื่องของมติชนก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในงานวิจัยที่ได้ศึกษากันอยู่

ในแง่ของกฎหมายการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มีด้วยกัน 2 ทาง คือ 1.เจ้าของปัญหาต้องลุกขึ้นมาเอง ตอนนี้ก็ต้องมาดูกันว่าใครเป็นเจ้าของปัญหา 2.รัฐบาลควรจะต้องเข้ามาเพราะตามมาตรา 87 ความคิดทุนนิยมนั้นพูดกันไปเรื่อยๆ แต่ตามมาตรา 87 ไม่ได้บอกให้เราเป็นทุนนิยมสุดโต่ง และที่สำคัญมาตรา 87 ระบุชัดเจนรัฐต้องกำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม แล้วกรณีแกรมมี่เป็นธรรมตรงไหน ไม่เป็นธรรมตรงไหน ก็ต้องคุยกัน

ต้องมานั่งระดมสมองกันว่า ปัจจัยที่ทำให้สื่อไม่มีเสรีภาพมีอะไรบ้าง ไม่ต้องไปกลัว เพราะเมื่อใดที่สื่อถูกครอบงำ ประชาชนก็ถูกปิดหูปิดตา

วันนี้ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนต้องมานั่งคุยกันว่าขณะนี้มีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อไหม หากมีกฎหมายอยู่แล้ว มีการบังคับใช้หรือไม่ เพราะหากรอออกกฎหมายใหม่คงต้องใช้เวลานาน

[Original Link]