Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Why Shared Value?

Rational    Opportunities    Initiatives    Strategies

แนวคิดคุณค่าร่วม (Shared Value) เป็นแนวคิดของการทำธุรกิจ ที่องค์กรต้องการดูแลแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมกับการทำธุรกิจ การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ

การสร้างคุณค่าร่วม หมายถึง การวางรูปแบบของการทำธุรกิจที่นำประเด็นปัญหาสังคมมาเป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนภายนอกที่มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม แตกต่างจากการดำเนินธุรกิจทั่วไป ซึ่งมีรูปแบบที่มุ่งตอบโจทย์ผลได้ทางธุรกิจเป็นหลัก โดยมีหุ้นส่วนซึ่งเป็นพันธมิตรในห่วงโซ่ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งแสวงหาผลกำไรเหมือนกัน

แนวคิดคุณค่าร่วม มิได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาทดแทนเรื่อง CSR หรือเรื่องความยั่งยืน แต่ธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้สามารถแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการทำธุรกิจที่แต่ละองค์กรได้ใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเองอย่างมีเอกลักษณ์และเกิดผลกระทบสูง โดยมีผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นแรงจูงใจขับเคลื่อนในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันจากภายนอก

จึงเป็นความสมเหตุสมผลที่การสร้างคุณค่าร่วมมีแรงหนุนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง เพราะความก้าวหน้าทางสังคมและผลประโยชน์ขององค์กรถูกปรับวางให้อยู่ในแนวเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้

ในระดับองค์กร คุณค่าร่วม มิใช่แนวคิดที่เสนอให้ธุรกิจ “ทำดี” โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ตรงกันข้าม แนวคิดคุณค่าร่วมเสนอให้กิจการยังคงเป้าหมายที่การ “ทำธุรกิจ” โดยมุ่งแสวงหากำไร แต่ด้วยการใช้รูปแบบทางธุรกิจที่สามารถสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างกิจการและสังคมไปพร้อมกัน

คุณค่าร่วม จึงจัดเป็น “กลยุทธ์” ทางธุรกิจ สำหรับกิจการที่ต้องการได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการวางจุดยืนทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning) และทำในสิ่งที่แตกต่าง มากกว่าการพัฒนาประสิทธิผลของการดำเนินงาน หรือทำในสิ่งเดิมให้ดีขึ้น

ในระดับอุตสาหกรรม คุณค่าร่วม นำไปสู่การสร้างวิถีแห่งการแข่งขันที่ยกระดับจาก “Zero Sum” ไปสู่ “Positive Sum” คือ แทนที่ธุรกิจจะแข่งขันกันในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยการห้ำหั่นราคา ในผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน และกับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ที่เมื่อบริษัทหนึ่งได้ อีกหลายบริษัทจำต้องเสีย กลายมาเป็นการแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม ที่มีมากกว่าหนึ่งบริษัทสามารถได้ประโยชน์

การแข่งขันในแบบ Zero Sum ท้ายที่สุด นอกจากจะทำให้กำไรของบริษัทถูกลดทอนลงแล้ว ยังมีส่วนทำให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้นๆ อ่อนแอลงด้วย ขณะที่การแข่งขันในแบบ Positive Sum จะนำไปสู่การขยายฐานของกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงบริการมาก่อน ความต้องการพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายได้รับการตอบสนองทั่วถึงยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ในระดับสังคม คุณค่าร่วม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบภายนอก หรือ “Externality” ที่เป็นผลกระทบซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ที่ก่อผลกระทบ เช่น น้ำทิ้ง หรือของเสียจากโรงงาน เป็นต้น

เป็นเหตุให้กิจการถูกจำกัดทางเลือกจนนำไปสู่การตัดสินใจในเชิง Trade-off ที่ต้องเลือกระหว่างกำไรหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจจะต้องเลือกกำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระต้นทุนให้แก่สังคม

แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก ซึ่งหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป

คุณค่าร่วม คือ คำตอบของการจัดการกับปัญหา Externality ที่สามารถยังประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปพร้อมกัน และเป็นแนวทางที่ใช้แก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา