Corporate Social Responsibility (CSR)
ใครสนใจ | ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) |
คืออะไร | ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (หรือที่เรียกว่า บรรษัทบริบาล) เป็นกลไกการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่ผู้มีส่วนได้เสียพึงได้รับตามกฎหมาย รวมถึงการใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจในการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม ตลอดจนการสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว |
กระแส CSR ในเมืองไทย ได้ถูกจุดประกายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2549 และได้ถูกบรรจุเป็นแนวปฏิบัติที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ โดยคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดทำคู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงานที่มีเป้าหมายด้านธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ในชื่อว่า ”เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” (Corporate Social Responsibility Guidelines) ในปี พ.ศ.2551 เพื่อปรับทิศทางการขับเคลื่อนโดยเน้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) นอกเหนือจากการบริจาค หรือการอาสาช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการทางธุรกิจ หรือที่เกิดขึ้นภายหลัง (CSR-after-process)
ในเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ฉบับปี พ.ศ.2551 ได้มีการให้แนวปฏิบัติในเรื่อง CSR ไว้ 8 หมวด ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในปี พ.ศ.2553 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ออกมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility Guidance Standard มอก. 26000 - 2553 ที่ล้อกับมาตรฐาน ISO 26000 : 2010 ซึ่งหน่วยงานและกิจการทุกประเภท ไม่เฉพาะองค์กรธุรกิจ สามารถนำแนวทางของ มอก. 26000 ไปใช้ปฏิบัติได้
มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วยสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการใน 6 หัวข้อหลัก (Core subjects) ได้แก่
หัวข้อหลัก 1 | ธรรมาภิบาล (Organizational governance) |
หัวข้อหลัก 2 | สิทธิมนุษยชน (Human rights) |
หัวข้อหลัก 3 | การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor practices) |
หัวข้อหลัก 4 | สิ่งแวดล้อม (The environment) |
หัวข้อหลัก 5 | การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating practices) |
หัวข้อหลัก 6 | ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer issues) |
หัวข้อหลัก 7 | การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and development) |
• แผนภาพ: 7 หัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
ต่อมาในปี พ.ศ.2555 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัยด้านการบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium of Business Schools: TCOBS) ดำเนินการปรับปรุงแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ฉบับเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ให้ทันต่อเหตุการณ์ และได้ปรับแนวปฏิบัติเพิ่มเป็น 10 หมวด โดยแยกหมวดการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ออกเป็น 2 หมวด และยกเรื่องการต่อต้านการทุจริต ออกจากหมวดการประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม เพิ่มเป็นหมวดแยกต่างหากเพื่อเน้นความสำคัญตามวาระของการพัฒนาประเทศ
และในปี พ.ศ.2558 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่เรียกย่อๆ ว่า ยุทธศาสตร์ CSR ชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2558-2560) ซึ่งผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558) โดยสาระสำคัญของยุทธศาสตร์มี 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 2) การสร้างเอกภาพในการบริหารยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 3) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ 4) การรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และ 5) การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ มุ่งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วน โดยหนึ่งในชุดกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในทุกสาขาและทุกขนาด เกิดกระบวนการพัฒนาและยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกระบวนการ (CSR-in-process) และนอกกระบวนการของการดำเนินงาน (CSR-after-process) รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (ภาคบังคับ) และส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีการประเมินตนเอง (ภาคสมัครใจ) โดยใช้คู่มือตรวจสุขภาพธุรกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Check list)
เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างแผนของรัฐบาล หลังจากที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประกาศใช้ แผน CSR ฉบับต่อมา ได้ปรับชื่อเป็น แผนปฏิบัติการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2565) และฉบับปรับปรุง (พ.ศ.2563-2565) ถือเป็นแผนระดับสามโดยดำเนินการตามกรอบแนวทางการเสนอแผนของประเทศ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 2) การสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4) การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ
และในปี พ.ศ.2565 แผนปฏิบัติการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ได้ถูกจัดทำขึ้น โดยมี 4 แผนงาน ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนการสร้างกลไกการทำงานของศูนย์ CSR จังหวัดที่เข้มแข็งทั่วประเทศ 2) การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 3) การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และ 4) การบูรณาการศักยภาพภาคีเครือข่ายขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
อนึ่ง การริเริ่มดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น สิ่งสำคัญพื้นฐานที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นก่อน คือ ความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ที่ถูกต้องตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องขอบเขตของ CSR ที่มักเข้าใจไปคนละทิศละทาง องค์กรหลายแห่งยังเห็นว่า CSR คือ เรื่องที่ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคมในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคมโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งความจริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ มีความสำคัญและสร้างผลกระทบสูงกว่าการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม
• CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน
7 หัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม