CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน
สำหรับคนในองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) มาระยะหนึ่ง วันนี้ยังต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) เพิ่มเติม เพื่อที่จะตอบคำถามหรืออธิบายให้ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจได้ว่า เรื่องทั้งสองนี้ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่
เรื่องการกำกับดูแลกิจการ หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล เป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง
ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รณรงค์และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จำนวน 15 ข้อ ในปี พ.ศ.2545 ให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในขั้นเริ่มแรก และได้มีการปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ในปี พ.ศ.2549 แบ่งออกเป็น 5 หมวด โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ OECD และข้อเสนอแนะของธนาคารโลก ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของแนวปฏิบัติที่ดีของทั้ง 5 หมวด ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้วัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ในปี พ.ศ.2555
และในปี พ.ศ.2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Principles) ที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้วางหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการไว้ 8 ข้อ ประกอบด้วย 1) ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน 2) กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน 3) เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล 4) สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร 5) ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ 6) ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม 7) รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล และ 8) สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือที่เรียกว่า บรรษัทบริบาล เป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่องค์กรจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว
บรรษัทบริบาล จึงเป็นการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนิติพลเมือง (Corporate Citizen) โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกกิจการอย่างเป็นธรรม
หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยกร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3) การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 4) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 5) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 6) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 7) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 8) การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่า เรื่องการกำกับดูแลกิจการ (CG) จะมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1) เป็นเรื่องของการนำหลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะต้องปลูกฝังให้เกิดกับบุคลากรในองค์กร มาเป็นฐานแห่งการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรสำหรับใช้กำกับดูแลการดำเนินงานของบุคลากรเพื่อให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม จริยธรรม
2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด
3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง สังคมภายนอกตรวจสอบได้
ขณะที่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จะประกอบด้วยคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ CG อยู่ 3 ประการ คือ
1) เป็นเรื่องของการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งองค์กรใช้เป็นแนวการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก โดยมีฐานที่พัฒนาขึ้นจากกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี
2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย และการดูแลผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย
3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าร่วมจากการส่งมอบประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคมส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว
จากบทเรียนในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง พบว่า องค์กรจะไม่สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกให้ประสบผลสำเร็จหรือก้าวหน้าได้ หากปราศจากการกำกับดูแลกิจการภายในที่ดีและเข้มแข็ง หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจทำ CSR โดยละเลยเรื่อง CG มิได้
(ปรับปรุง: กันยายน 2566)
[Original Link]