Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR: Historical Background


ในยุคแรก ที่คำว่า ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมก่อกำเนิดขึ้น ได้มีการอ้างอิงคำนิยามของโฮวาร์ด อาร์ โบเวน ผู้แต่งหนังสือชื่อ Social Responsibilities of the Businessman ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2496 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจ หมายถึง “ภาระผูกพันของนักธุรกิจที่จะดำเนินนโยบาย ตัดสินใจ หรือปฏิบัติในแนวทางที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และค่านิยมของสังคม” (Bowen, 1953)

แง่มุมที่มิได้ถูกนำเสนอมากไปกว่าการอ้างอิงคำนิยามข้างต้น คือ โบเวนได้จำกัดความหมายของคำว่า ‘ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจ’ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ว่าหมายรวมเฉพาะบทบาทของผู้จัดการและกรรมการของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งอื่นหรือองค์กรที่เป็นวิสาหกิจขนาดเล็กอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ข้อเสนอส่วนใหญ่ในหนังสือของโบเวน มิได้เน้นสื่อสารกับเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้คุมกิจการ แต่มุ่งที่จะหว่านล้อมบรรดาผู้จัดการและกรรมการของบริษัท ให้ขยายบทบาทความรับผิดชอบของตนเองไปสู่กลุ่มอื่นๆ ในสังคม โดยไม่จำนนต่อกรอบและกติกาทางธุรกิจที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่เพียงถ่ายเดียว ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ข้อเสนอเหล่านั้น ไม่ได้รับการตอบรับจากเจ้าของกิจการเท่าที่ควร

นิยามของโบเวน ได้รับการคัดค้านจาก มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี พ.ศ. 2519 ที่ยึดแนวของผู้ถือหุ้น (Shareholder Approach) ในการนิยามว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชน ไม่ได้มีมากไปกว่าการใช้ทรัพยากรขององค์กรในการดำเนินกิจกรรมที่วางไว้เพื่อการเพิ่มผลกำไร ตราบเท่าที่อยู่ภายใต้กติกาที่เปิดกว้างและแข่งขันอย่างเสรี โดยปราศจากการฉ้อฉลหรือการหลอกลวง” (Friedman, 1962; 1970)

ข้อเสนอของฟรีดแมน มุ่งที่จะให้ผู้จัดการและกรรมการของบริษัท ตระหนักในบทบาทความเป็นตัวแทนของเจ้าของกิจการ ที่ต้องไม่ใช้เงินของผู้ที่ตนเองทำหน้าที่เป็นตัวแทนอยู่นั้นไปเพื่อการอื่น (ใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมทั่วไป) ซึ่งมีผลทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นลดลง หรือทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น หรือทำให้พนักงานต้องถูกกดค่าแรง เป็นต้น

ฟรีดแมน ย้ำว่า ผู้ถือหุ้น ลูกค้า หรือพนักงาน สามารถใช้เงินตนเอง ที่ไม่ใช่เงินบริษัท หากเขาเหล่านั้นต้องการที่จะช่วยเหลือสังคม

อย่างไรก็ดี ฟรีดแมน มิได้โต้แย้งว่า มีหลายกรณีที่ผู้บริหารบริษัท อาจดำเนินกิจกรรมทางสังคม เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของกิจการในระยะยาว และได้ผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมในทางอ้อม อาทิ การลงทุนในชุมชนที่สามารถปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของว่าที่พนักงานในอนาคต หรือการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี กิจกรรมเหล่านี้มีความสมเหตุผลในแง่ของการรักษาประโยชน์แก่กิจการ ที่ก่อให้เกิดค่าความนิยม (Goodwill) ในตัวกิจการเป็นผลพลอยได้ ส่งผลให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่ง เอื้อให้กิจการมีโอกาสในการแสวงหากำไรเพิ่มเติม

การอ้างเหตุผลของฟรีดแมน กระตุ้นให้นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่าน ทำการสำรวจว่า ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง ที่การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะไปสนับสนุนให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจแก่ตัวกิจการ โดยข้อพิจารณาที่กิจการซึ่งมีวัตถุประสงค์หากำไร จะลงทุนในกิจกรรมทางสังคม มีที่มาจากแรงจูงใจ 3 แบบ คือ เป็นการทำเพื่อผู้อื่น (Altruistic) เป็นการทำเพื่อตนเอง (Egoistic) และเป็นการทำเชิงกลยุทธ์ (Strategic) (Bryan Husted and José de Jesus Salazar, 2006)

รูปแบบที่เป็นการทำเพื่อผู้อื่น กิจการดำเนินกิจกรรมทางสังคม โดยมิได้คำนึงถึงการแสวงหากำไรสูงสุดเป็นพื้นฐาน ประโยชน์ที่กิจการได้รับในกรณีนี้ เป็นผลพลอยได้จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมนั้นๆ ส่วนรูปแบบที่เป็นการทำเพื่อตนเอง กิจการถูกตรวจสอบและบีบบังคับจากภายนอก ให้จำต้องดำเนินการ และรูปแบบที่เป็นการทำเชิงกลยุทธ์ กิจการระบุกิจกรรมทางสังคมที่จะดำเนินการ จากที่ผู้บริโภค พนักงาน หรือผู้ลงทุน ให้ค่าว่ามีนัยสำคัญ โดยจะผนวกกิจกรรมเหล่านั้น ไว้ในวัตถุประสงค์ของการหากำไร

ข้อสรุปของฮัสเต็ดและซาลาซาร์ สอดคล้องกับข้อเสนอของฟรีดแมน ในแง่ที่ว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทั้งกิจการและสังคม จะมีมากในรูปแบบที่เป็นการทำเชิงกลยุทธ์ คือ เมื่อกิจการสามารถปรับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในแนวเดียวกันกับประโยชน์ของกิจการ

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน นิยามของ CSR ได้ถูกนำเสนอโดยหลายสำนักทั้งจากวงการเศรษฐศาสตร์ (Heal, 2005, 2008; Baron, 2007; Bénabou, R. & Tirole, 2010) และจากวงวิชาการบริหารธุรกิจ (Carroll, 1979; McWilliams and Siegel, 2000, 2001) รวมทั้งแนวคิดเรื่อง Strategic CSR (Michael E. Porter and Mark R. Kramer, 2006) ที่ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยรูปแบบทางธุรกิจ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับข้อสรุปของฮัสเต็ดและซาลาซาร์ กับข้อเสนอของฟรีดแมน

ในเวลาต่อมา แนวคิดเรื่อง Strategic CSR ดังกล่าว ได้พัฒนามาเป็นรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) ซึ่งเป็นการใช้รูปแบบทางธุรกิจตามวิถีทางของทุนนิยมในการแก้ไขปัญหาสังคม มิใช่การดำเนินตามมาตรฐานทางจริยธรรมและค่านิยมส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง (Michael E. Porter and Mark R. Kramer, 2011)

จะเห็นว่า นิยามของ CSR ในระยะหลัง ยึดแนวของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Approach) ในการให้คำจำกัดความ นอกเหนือจากประโยชน์ของผู้ถือหุ้น มีความพยายามในการสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมกัน (Shared Value) ระหว่างผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอื่นของกิจการ

ในอีกทางหนึ่ง นิยามของ CSR ที่บัญญัติโดยหน่วยงานที่เป็นสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นแนวคิดที่บริษัทผนวกข้อกังวลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ในการปฏิบัติงานทางธุรกิจ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย บนพื้นฐานของความสมัครใจ (European Commission, 2001) ซึ่งเป็นการตีความบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ว่าเป็นข้อปฏิบัติของธุรกิจที่มากกว่าหรือในขั้นสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

ในเวลาต่อมา บริบทของการดำเนินความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยได้รวมข้อกำหนดทางกฎหมายไว้เป็นการดำเนินงานขั้นพื้นฐานของ CSR (International Organization for Standardization, 2010) และมีการปรับนิยามใหม่เป็น กระบวนการที่จะผนวกข้อกังวลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมไว้ในการปฏิบัติงานและกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างใกล้ชิด (European Commission, 2011)

ปัจจุบัน คำจำกัดความของคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ขยายครอบคลุมไปยังองค์กรในทุกประเภท และใช้กับวิสาหกิจในทุกขนาด โดยคำอธิบายในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ระบุว่า "เป็นการนำข้อพิจารณาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจ และพร้อมรับผิดชอบในผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจและการดำเนินงานดังกล่าว ด้วยความโปร่งใสและการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กฎหมายและหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และมีลักษณะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกบูรณาการอยู่ในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และประโยชน์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ" 1 (ISO26000, 2010)





--------------------------------------
1 According to ISO 26000, the essential characteristic of social responsibility is the willingness of an organization to incorporate social and environmental considerations in its decision making and be accountable for the impacts of its decisions and activities on society and the environment. This implies both transparent and ethical behaviour that contributes to sustainable development, is in compliance with applicable law and is consistent with international norms of behaviour. It also implies that social responsibility is integrated throughout the organization, is practised in its relationships and takes into account the interests of stakeholders.