Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เช็กอาการ องค์กร...เพื่อสังคม ของแท้ หรือ ของเทียม


เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ สิ่งที่องค์กรทำส่วนใหญ่อาจจะยังอยู่แค่เพียงว่าบริษัททำ (กิจกรรม) อะไรเพื่อสังคม และอาจกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดของหลายบริษัท ทั้งที่ในความเป็นความหมายของคำว่า CSR : corporate social responsibility กินความหมายที่ลึกและกว้างกว่านั้น

ในความหมายที่ ศิริชัย สาครรัตนกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้มานานกล่าวถึง CSR ที่แท้ไว้ว่า "หัวใจสำคัญของ CSR ประการที่ 1 ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่การโฆษณา ต้องเป็นการทำอะไรที่มาจากใจ จิตวิญญาณและพยายามสร้างให้เป็นเรื่องขององค์กร ประการที่ 2 ต้องมีจริยธรรมทางธุรกิจ ประการที่ 3 เน้นสังคมวงแคบก่อน ตั้งแต่ครอบครัวแรงงาน ชุมชนรอบข้างและชุมชนวงกว้าง ประการที่ 4 สิ่งแวดล้อม"

ศจินทร์ ประชาสันต์ คอลัมนิสต์นิตยสาร CSR Jounal เขียนเล่าไว้ว่า "การรับผิดชอบต่อสังคมต้องการการดำเนินการที่หนักแน่นและจริงจัง เพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไขและสนับสนุนให้สังคมดำเนินไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ สงบสุข และเป็นสังคมที่ดีกว่าเดิม แต่ในอีกด้านหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งมักถูกละเลยและถูกลืม คือการละเว้นจากการกระทำที่คาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลเสียต่อสังคม หรือ "ยับยั้งชั่งใจ" ที่จะไม่ทำบางอย่าง แม้ว่าบริษัทจะคิดว่าตนมีสิทธิที่จะกระทำหรือผลทางธุรกิจที่น่าเย้ายวนใจก็ตามที"

โดยยกกรณีศึกษาของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (แกรมมี่) เข้าควบคุมสื่อในเครือมติชนและโพสต์ว่า "อันที่จริงแม้แกรมมี่จะไม่ได้มีนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมปรากฏ แต่ก็ได้รับหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯมาปฏิบัติภายใต้ความมีจริยธรรมทางธุรกิจ ไม่ว่าแกรมมี่จะนิยามสิทธิสังคมโดยรวมและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้อย่างไร แต่ส่วนของสังคมอันประกอบด้วยผู้บริโภค ผู้ทำวิชาชีพสื่อมวลชน ประชาชนและองค์กรประชาสังคมอื่นๆ ได้ให้บทเรียนอันสำคัญว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการเพียงการทำกิจกรรมตอบแทนสังคม หากแต่ต้องการการไม่ทำบางอย่างที่ทำร้ายพวกเขาไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมด้วยเช่นกัน"

ไม่เฉพาะกรณีที่ว่า ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมากที่คิดรับผิดชอบต่อสังคมเพียงกิจกรรม แต่ไม่ได้จัดความรับผิดชอบไว้ในกระบวนการดำเนินการธุรกิจของบริษัท กรณี "การทำดี" เพื่อกลบ "การทำไม่ดี" เกิดขึ้นทั่วโลก เดวิด ซี. คอร์เท็น ผู้เขียนหนังสือ "ชีวิตหลังทุนนิยม โลกยุคหลังบรรษัท" กล่าวไว้ว่า

"บรรษัทที่เป็นผู้นำในการทำลายบรรยากาศชั้นโอโซน กลับได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในการปกป้องชั้นโอโซน บรรษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งถึงกับอ้าแขนรับแนวทางป้องกันไว้ก่อน ต่อปัญหาโลกร้อน ผู้ผลิตสารเคมีทางการเกษตรรายสำคัญ ขายยาฆ่าแมลงซึ่งมีอันตรายร้ายแรงขนาดที่ถูกห้ามขายในหลายประเทศ ในขณะที่อ้างว่ากำลังช่วยเลี้ยงดูผู้หิวโหย บรรษัทปิโตรเคมีใช้ของเสียจากกระบวนการผลิตที่ก่อมลพิษกระบวนการหนึ่งให้เป็นวัตถุดิบสำหรับอีกกระบวนการหนึ่ง และโอ้อวดว่านี่เป็นความคิดริเริ่มสำคัญของการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่

บรรษัททำไม้แห่งหนึ่งตัดไม้จากป่าฝนธรรมชาติแล้วทดแทนด้วยการปลูกพืชต่างถิ่นเชิงเดี่ยว และเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการพัฒนาป่าที่ยั่งยืน"

หมายความว่ากลุ่มบรรษัทระดับโลกจำนวนมากที่ทำในลักษณะ "ตีสองหน้า" "บางครั้งเราถูกองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์เบี่ยงประเด็นให้เราเข้าใจไม่ค่อยตรง ยกตัวอย่างเช่น กรณีเหตุการณ์สึนามิ องค์กรเห็นและอยากช่วยก็ส่งพนักงานลงไป และก็ควักกระเป๋าเอาเงินให้"

"แต่บางองค์กรกลับเห็นว่าพอมีเคสสึนามิขึ้น เขาบอกว่าเรามาทำแคมเปญกันดีกว่าว่าในเดือนนี้ทุกๆ การซื้อสินค้าของบริษัทที่มีอยู่ในตลาดทุกๆ การซื้อ 1 บาท มอบให้องค์กรที่ช่วยเหลือ เท่ากับว่าเราไปสื่อสารให้ลูกค้าซื้อของเพิ่ม และเราได้ประโยชน์จากการนำทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาช่วย เราไม่ได้ปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ CSR แต่เราเพียงชี้ว่าความเข้มข้นในแต่ละระดับไม่เหมือนกัน และเป็นเรื่องดีถ้าเราสามารถชี้ให้สังคมเห็นได้ ว่าอันนี้ทำไปแล้วองค์กรได้ประโยชน์มากกว่าสังคม" พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ตั้งข้อสังเกต

คำถามที่เกิดขึ้นวันนี้ก็คือ แล้วสิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภค ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคม ได้เรียนรู้ว่าใครคือองค์กรรับผิดชอบสังคมที่แท้ และอะไรคือองค์กรรับผิดชอบสังคมที่เทียม

หากจะมองถึงเกณฑ์การพิจารณาในงานวิจัยเรื่องการพัฒนา CSR ในกระบวนการจัดการธุรกิจ ที่ศึกษาวิสาหกิจ 7 แห่ง พบว่าการจะดู CSR ที่แท้หรือ CSR ที่เทียม สามารถพิจารณาได้จากประโยชน์ที่สังคมได้รับให้ดูว่าสังคมได้รับมากกว่าองค์กรหรือองค์กรได้รับมากกว่าสังคม หากสังคมได้รับมากกว่านั่นคือ CSR ที่แท้

"เมื่อไหร่ก็ตามที่องค์กรซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมก็สามารถนำเสนอได้เสมอว่านี่คือ CSR การไม่เบียดเบียนและช่วยเหลือสังคม แต่ถ้าช่วยสังคม 1 ส่วนบริษัทได้ 9 ส่วนผมมองว่านั่นเป็น CSR เทียมไม่แท้เท่าไหร่ แต่ก็ยังเป็น CSR" พิพัฒน์ในฐานะนักวิจัย กล่าวและว่า "จริงๆ แล้วมีประโยชน์ทั้ง 2 มุม แต่ถ้าจะมองใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน กรณีองค์กรได้รับมากกว่าบางครั้งองค์กรทำนิดเดียวแต่ขยายผลออกไปมาก แต่กรณีสังคมได้มากกว่าองค์กร ทำให้เรารู้ได้ระดับหนึ่งว่าเขาจริงใจ ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญจะต้องดูในเรื่องของอาสาสมัคร การสมัครใจทำหรือยินดีที่จะทำ เพราะการทำ CSR ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องถูกบังคับให้ทำ"

"ที่สุดก็คือสังคมได้ประโยชน์มากกว่าองค์กร กรณีแกรมมี่กับมติชน ไม่ใช่ว่าสังคมจะต้องกดดันว่าคุณต้องขายหุ้นคืน ถ้าคุณมีความรับผิดชอบต่อสังคมจริงก็ไม่ต้องทำแบบนั้นตั้งแต่แรก"

เมื่อมองสถานการณ์การทำ CSR ขององค์กรธุรกิจไทยส่วนใหญ่วันนี้ พิพัฒน์มองว่า ยังไม่ได้อยู่ในกระบวนการจัดการธุรกิจ ส่วนใหญ่ยังมีรูปแบบที่บริษัททำธุรกิจได้ผลกำไรและบริจาคให้สังคมหรือเรียกว่า after process แต่ CSR ที่แท้ที่พยายามจะขับเคลื่อนคือ CSR in process ซึ่งจะมีน้ำหนักเข้มข้นมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การที่เป็นโรงงานต้องการกำไรสูงสุด จึงปล่อยน้ำเสียลงสู่สาธารณะและละเลยในเรื่องนี้ แต่พอสิ้นปีมีกำไร ก็จะไปเยียวยาชุมชนรอบข้าง กรณีอย่างนี้เป็น CSR after process เพราะหากเป็น CSR in process จะต้องสร้างกระบวนการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้ชุมชนเดือดร้อน

"แม้จะเน้น CSR ที่อยู่ในกระบวนการจัดการธุรกิจ แต่เราจะไม่พยายามบอกว่า after process ไม่ใช่ของแท้ เพราะบางครั้งองค์กรไม่พร้อม สิ่งที่เราต้องทำก็คือชวนเขาเข้ามาให้มีโอกาสเรียนรู้การทำ CSR ในกระบวนการจัดการธุรกิจ ไม่ใช่จะไปบอกว่าคุณไม่จริง คุณต้องออกไป บางครั้งเราอาจรู้ว่าบริษัทนั้นไม่จริงใจ แต่เราก็ต้องพยายามคัดเข้ามาสู่กระบวนการบ่มเพาะและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำมาในอดีตให้มีความจริงใจมากยิ่งขึ้น ไม่ควรผลักเขาออกไปทำในสิ่งที่สังคมไม่ได้ประโยชน์"

ไม่ว่าบทสรุปและสิ่งที่ผู้บริโภคมององค์กรว่าจะเป็น CSR ที่แท้หรือ CSR เทียม ท้ายที่สุดต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่ว่า...เอาเข้าจริงแล้วองค์กรธุรกิจนั้นๆ มีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความจริงใจมากน้อยแค่ไหน

[Original Link]