Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR ปี 2550


จากกระแสแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่บรรดาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในการแสวงหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกิจกรรมซีเอสอาร์ในองค์กรอย่างจริงจัง จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า กระแสความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคมในประเทศไทย หรือที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้ชื่อเรียกว่า “บรรษัทบริบาล” (Corporate Social Responsibility – CSR) ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างมั่นคงในปี 2549 และได้แผ่กำลังข้ามมายังปี 2550 ด้วยความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เพิ่งจะผ่านพ้นปีจอ 2549 มาหมาดๆ ผมได้เห็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้ประกาศทิศทางของบรรษัทบริบาลกันตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะที่องค์กรบางแห่งถึงกับวางกิจกรรมซีเอสอาร์ไว้ตลอดทั้งปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น ในปีกุน 2550 นี้ การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ของแต่ละองค์กรในการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง จึงอาจจะไม่หมูเหมือนกับชื่อปีก็เป็นได้ ประกอบกับ ยังมีองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่งที่ยังไม่มีแนวทางอย่างชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมในการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ และองค์กรธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อย ก็ยังไม่แน่ใจว่ากิจกรรมที่องค์กรดำเนินอยู่นั้นเข้าข่ายบรรษัทบริบาลหรือไม่

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR) จึงได้ทำการประมวลภาพความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของซีเอสอาร์จากปี 2549 สู่ปี 2550 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติที่ดีในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นรายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR ปี 2550: จากบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) สู่บรรษัทบริบาล (Corporate Social Responsibility)” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้แก่องค์กรธุรกิจสามารถใช้สนับสนุนการวางแผนการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ได้อย่างมีกลยุทธ์ และเพื่อให้ทันกับกระแสซีเอสอาร์ที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2550 นี้

 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
31 มกราคม 2550