สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล
สถาบันไทยพัฒน์ (Thaipat Institute) เป็นองค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 ในรูปของชมรมไทยพัฒน์ และได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพมาเป็นสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ทำงานด้านการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและบรรษัทบริบาล (Corporate Social Responsibility) ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้การวิจัย การให้คำปรึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงาน ได้เข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548
ด้วยทรัพยากรของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ประกอบด้วยบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริหารจัดการสมัยใหม่ จึงได้นำมาผสมผสานให้เข้ากับการดำเนินงานตามแนวทาง “การร่วมมือกัน” ซึ่งเป็นหลักการดั้งเดิมของมูลนิธิฯ ในลักษณะที่เรียกว่า “การเข้ามีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรม” (Contribution by Innovation) โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันไทยพัฒน์ จึงสะท้อนการดำเนินงานในแบบของการทำงานร่วมกัน ทั้งที่เป็นการริเริ่มโครงการและกิจกรรมให้แก่หน่วยงานอื่นได้เข้ามีส่วนร่วม และการเข้ามีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องมือจากการคิดขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลความสำเร็จในแต่ละโครงการ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจที่จำต้องมีองค์ประกอบของซีเอสอาร์ภายในองค์กร และเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีการหยิบยกเรื่องซีเอสอาร์มาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้า โดยการร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และองค์กรธุรกิจชั้นนำอีกหลายแห่ง ในการศึกษาและพัฒนาซีเอสอาร์ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาซีเอสอาร์ภายใต้บริบทของสังคมไทย
ผลผลิตหนึ่งในโครงการ ได้แก่ Z-Model ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านบรรษัทบริบาลที่สถาบันไทยพัฒน์คิดค้นขึ้นจากการประยุกต์เครื่องมือ Balanced Scorecard เพื่อให้องค์กรธุรกิจใช้ในการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ในกระบวนการธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินงานและการบริหารกิจกรรมซีเอสอาร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม