Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จากบรรษัทภิบาล (CG) สู่บรรษัทบริบาล (CSR)


จากกระแสแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่บรรดาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในการแสวงหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกิจกรรมซีเอสอาร์ในองค์กรอย่างจริงจัง จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า กระแสความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคมในประเทศไทย หรือที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้ชื่อเรียกว่า "บรรษัทบริบาล" (Corporate Social Responsibility-CSR) ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างมั่นคงในปี 2549 และได้แผ่กำลังข้ามมายังปี 2550 ด้วยความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณลักษณะของบรรษัทภิบาล (CG) และบรรษัทบริบาล (CSR) มีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันอยู่ บทความนี้จึงพยายามที่จะอธิบายคุณลักษณะที่สำคัญของบรรษัทภิบาลและบรรษัทบริบาล เพื่อสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อการนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

บรรษัทภิบาล มาจากคำว่า บรรษัท+อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง) +บาล (แปลว่า การปกครอง การรักษา) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดีโดยมุ่งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียอื่นและสังคมโดยรวมประกอบกันในประเทศไทย ได้มีการพัฒนาหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการ (Principles of Corporate Governance) ของ OECD (The Organization for Economic Co-Operation and Development) และข้อเสนอแนะของธนาคารโลก โดยได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวดได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

เรื่องของบรรษัทภิบาลถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในขั้นพื้นฐานที่กิจการต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

ส่วนบรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท+บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) +บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (corporate citizen) การมีคุณธรรมโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน

เรื่องของบรรษัทบริบาลจึงเป็นกลไกการดำเนินงานและกระบวนการภายนอกขั้นก้าวหน้าที่กิจการจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาวในประเทศไทย แนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องบรรษัทบริบาลมีอยู่ในสังคมไทยมาช้านานแล้ว และแนวปฏิบัติหลายข้อที่กิจการไทยนำมาใช้ในปัจจุบันก็ยังปรากฏอีกว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าหลักการซีเอสอาร์ของต่างประเทศอีกด้วย

สถาบันไทยพัฒน์ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องบรรษัทบริบาลภายใต้โครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจระยะที่ 1 ร่วมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำจำนวน 7 แห่ง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของกิจกรรมซีเอสอาร์ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาซีเอสอาร์ภายใต้บริบทของสังคมไทย

สำหรับในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์จะยังคงศึกษาเรื่องซีเอสอาร์อีกอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจระยะที่ 2 และมีองค์กรธุรกิจที่ตอบรับการเข้าร่วมแล้ว 13 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสร้างเครื่องมือสำหรับการพัฒนาซีเอสอาร์ในกระบวนการธุรกิจ และสร้างแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการนำเครื่องมือการพัฒนาซีเอสอาร์ดังกล่าวไปใช้ในองค์กรของตนเอง


[Original Link]