Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หลักการและเหตุผล

โครงการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์


กระแส “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” (Corporate Social Responsibility – CSR) หรือที่สถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า “บรรษัทบริบาล” กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยจิตสำนึกจากภายในกิจการเอง หรือจากผู้มีส่วนได้เสียภายนอกเป็นผู้ผลักดัน เป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจและกำหนดบทบาทของตนเองในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นองค์ประกอบ

องค์กรธุรกิจหลายแห่ง ได้มีการพัฒนาและดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนของกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ต้องดูแลทั้งกิจกรรมเก่าที่ดำเนินอยู่แล้ว และความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองให้ทันกับประเด็นทางสังคมที่เป็นปัจจุบัน ทำให้การบริหารกิจกรรมซีเอสอาร์ของกิจการมีความซับซ้อนหลากหลายยิ่งขึ้น องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องมี “เครื่องมือ” และ “กลยุทธ์” สนับสนุนการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง ก็ยังไม่แน่ใจว่ากิจกรรมที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่นั้นเข้าข่ายบรรษัทบริบาลหรือไม่ และองค์กรธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อย ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะกิจการ

ด้วยเหตุนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้พัฒนาโครงการวิจัยและให้คำปรึกษา “การพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์” (Strategic CSR Development) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตอบคำถามหลักสองประการ ประการแรก คือ มีกิจกรรมใดบ้างที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่แล้วนั้นเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ และกิจกรรมที่ว่านั้นจัดเป็นซีเอสอาร์ประเภทใด ประการที่สอง คือ จะมีเครื่องมือหรือวิธีในการวัดผลการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีอยู่ได้อย่างไร และจะปรับปรุงให้เสริมกับธุรกิจได้อย่างไร

การดำเนินโครงการจะแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนที่หนึ่ง จะตอบคำถามแรก ด้วยเครื่องมือ CSI Process Mapping ซึ่งจำแนกให้เห็นรูปแบบของกิจกรรมซีเอสอาร์ที่อยู่ในกระบวนการ (in Process) และอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ (after Process) จำนวน 6 รูปแบบ ในส่วนที่สอง จะตอบคำถามที่สอง ด้วยเครื่องมือ CSR Balanced Scorecard ที่เพิ่มเติมมุมมองนอกเหนือด้านการเงิน มุมมองด้านสังคม มุมมองด้านกระบวนการภายนอก และมุมมองด้านจริยธรรมและความยั่งยืน นอกเหนือจากมุมมองดั้งเดิม 4 ด้าน


  วัตถุประสงค์ >>