Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เตือนเอกชนเร่งคลอด"ซีเอสอาร์"ก่อนถูกกันการค้า


ภาครัฐ-เอกชนตื่นตัว ขับเคลื่อนซีเอสอาร์ เร่งองค์กรธุรกิจไทยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เตรียมออกกฎหมายให้องค์กรและหน่วยงานที่ทำซีเอสอาร์สามารถลดหย่อนภาษีได้ พร้อมจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมสนับสนุนบริษัทเอกชนมุ่งทำความดี นักวิชาการ ชี้อนาคตบริษัทต่างชาติ เตรียมใช้ซีเอสอาร์เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า หากผู้ผลิตไทยยังไม่ขยับปรับตัวดูแลพนักงาน สังคม สิ่งแวดล้อม อาจถูกตัดออเดอร์ หรือบอยคอตไม่ทำการค้าด้วย

วานนี้ (19 ก.ค.) ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Promotion Center : CSR) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับหอการค้าไทย จัดงานสัมมนาหัวข้อ "ธุรกิจและรัฐกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม" โดยมี น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าร่วมประมาณ 300 คน

สำหรับวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย นายศิริชัย สาครรัตนกุล ประธานคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้านส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ นายอนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการด้านซีเอสอาร์ จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และอาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการ คณะกรรมการจรรยาบรรณ หอการค้าไทย นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม และนายศุภชัย เทพัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจในแนวคิดและหลักการของความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) รวมถึงการกระตุ้นให้หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำซีเอสอาร์ เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับการสร้างสังคมและชุมชนให้น่าอยู่

น.พ.พลเดช กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องของซีเอสอาร์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะหน่วยงานและองค์กรของเอกชนเท่านั้น แต่ซีเอสอาร์ยังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง ภายใต้ความสมานฉันท์ บนพื้นฐานของคุณธรรม โดยขณะนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เตรียมที่จะออก พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ.......เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งหากประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว คุณภาพชีวิตของคนไทยก็จะดีขึ้น

ทั้งนี้ทางกระทรวงจะผลักดันกฎหมายนี้ให้ประกาศใช้ได้ในเดือนต.ค.ปีนี้ ซึ่งเมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว จะมีการออกกฎกระทรวง หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่สนับสนุนให้เอกชน ทำซีเอสอาร์ได้มากขึ้น ซึ่งอาจมีมาตรการ การให้รางวัลกับองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยสามารถที่จะใช้เป็นผลงานในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล และครอบคลุมถึงทำความดีและการทำงานเพื่อสังคมสำหรับบุคคลธรรมดาด้วย

"พ.ร.บ.นี้ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ครบแล้วคาดว่าจะเสนอ สนช.ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และจะประกาศใช้ในเดือนต.ค.นี้ เมื่อกฎหมายออกแล้วจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เอกชนและประชาชนอยากทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งจะได้รับการตอบแทนจากกลไกของรัฐ เช่น บริษัทเอกชนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ขณะที่บุคคลทั่วไปก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี ปัจจุบันหากองค์กรหรือประชาชนมีการบริจาคก็ได้รับการลดหย่อน แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ 300-400 องค์กร แต่อนาคตจะมีการเพิ่มขึ้นมาก" น.พ.พลเดช กล่าว

ซีเอสอาร์ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ นักวิชาการ และนักวิจัย ด้านซีเอสอาร์ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ซีเอสอาร์ เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อไม่นานและเป็นกระแสที่มาจากต่างชาติ แต่แท้จริงแล้วบริษัทในเมืองไทยหลายๆ แห่งก็มีการทำซีเอสอาร์มานานแล้ว อย่างไรก็ตามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์มากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ ส่วนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องซีเอสอาร์มากนัก

"การทำซีเอสอาร์หากแปลกันจริงๆ ก็คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะธุรกิจของเอกชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงภาครัฐ สังคมไทย และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดจะต้องสามารถผนวกเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวได้ และการทำซีเอสอาร์จะต้องเป็นการทำจากภายในองค์กรออกไปสู่สังคม ซึ่งภายใน หมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ผู้บริหาร พนักงาน ส่วนภายนอกคือชุมชนและสังคมรอบตัว ครอบคลุมไปถึงซัพพลายเออร์ คู่แข่ง และผู้บริโภคด้วย"

แต่ทั้งนี้ ซีเอสอาร์จะต้องทำด้วยความสมัครใจ เน้นประโยชน์ที่สังคมได้รับ จึงจะเรียกได้ว่า เป็น "ซีเอสอาร์แท้ " แต่ถ้าทำไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือสร้างภาพ และทำโดยถูกบังคับจากสังคม และเน้นประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ก็จะกลายเป็น "ซีเอสอาร์เทียม" และหากพิจารณาถึงการทำซีเอสอาร์จริงๆ จะเห็นได้ว่าบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เงินด้วยซํ้า เพราะสามารถดำเนินการไปกับกระบวนการธุรกิจ

ดร.พิพัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตในกรณีที่มีข่าวเรื่องการปิดตัวของโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการระบุถึงการปิดตัวว่า เป็นเพราะค่าเงินบาท ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสมทบ แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง พอสะท้อนให้เห็นได้ว่า การที่มีออเดอร์ลดลง จากบริษัทที่จ้างผลิต เพราะบริษัทผู้จ้าง เห็นว่า โรงงานแห่งนั้น ไม่ได้ทำซีเอสอาร์ ซึ่งหมายรวมถึงด้านความปลอดภัยของพนักงาน ชุมชนรอบข้าง ซึ่งเมื่อมีการแจ้งเตือนให้ปฏิบัติ แต่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถทำได้ก็จะลดออเดอร์ลง ซึ่งอนาคตอาจเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าอีกด้วย

อนาคตต่างชาติใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า
นายศุภชัย เทพัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการทำซีเอสอาร์เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกการค้าปัจจุบันคือ การได้มาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้มาตรฐานระบบการจัดการ หรือ ISO ทั่วโลกได้มีการออก ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นให้กำกับตัวเอง และจะมีการประกาศใช้ต้นปี 2009 ซึ่ง ISO 26000 ถือเป็นมาตรฐานสูงและสมบูรณ์ที่สุด มาตรฐานนี้ต้องเสียงบประมาณเหมือนมาตรฐานอื่นๆ โดยจะครอบคลุม 7 หัวข้อด้วยกันประกอบด้วย 1. สิ่งแวดล้อม 2. สิทธิมนุษยชน 3. มาตรฐานแรงงาน 4. องค์กร 5. ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ 6. สภาพแวดล้อมของชุมชน และ 7. การดูแลผู้บริโภค

"ผมก็ไม่อยากจะบอกว่าสิ่งนี้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า แต่เป็นสิ่งที่การันตีได้ถึงความสมบูรณ์ขององค์กรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกันมาก เราไม่อาจปฏิเสธได้ต้องยอมรับความจริงกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น ถามว่าการที่โรงงานปิด พนักงาน 6,000 คนปิดถนนประท้วง สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากค่าเงินบาทหรือความรับผิดชอบต่อสังคม"

ตลาดหลักทรัพย์เตรียมผลักดันบจ.ทำซีเอสอาร์
นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สายงานบริหาร ซึ่งรับผิดชอบดูแลธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เตรียมเปิดตัวสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Institute : CSRI) ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯดำเนินการเกี่ยวกับซีเอสอาร์มากขึ้น โดยกำลังศึกษาการทำซีเอสอาร์รีพอร์ต เพื่อบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี

ทั้งนี้เนื่องจากทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับซีเอสอาร์ หากบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ไม่มีความจริงจังในการทำซีเอสอาร์ต่อไปนักลงทุนอาจจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาในการซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆ ซึ่งจากการทำการศึกษาพบว่า บริษัทที่ทำซีเอสอาร์จะมีการเติบโตแบบยั่งยืนมากกว่าบริษัทที่ไม่มีการทำซีเอสอาร์ และการทำซีเอสอาร์ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากนักลงทุนจะนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการลงทุน

"กระแสของบริษัทข้ามชาติที่มีความเข้มในเรื่องของมาตรฐาน ก็มีการใช้ซีเอสอาร์เป็นเครื่องมือในการตอบโต้ผู้ค้า หากผู้ค้าไม่ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่บริษัทรายใหญ่ที่ลดออเดอร์ เนื่องจากโรงงานนั้นไม่ได้มีการปฏิบัติที่ดีต่อพนักงาน ซึ่งต่อไปบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องหันมาทำซีเอสอาร์"


[Original Link]