Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา OPDC News ได้นำเสนอข่าวสารการไปศึกษาดูงาน ณ บริษัท Toshiba Thailand ซึ่งทำให้เราทราบถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ของบริษัทเอกชน และในวันนี้ OPDC News ก็มีอีกมุมมองในเรื่องของ CSR “แสร้งทำ” หรือ “จำเป็น” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ มานำเสนอกัน

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะนิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชานิเทศศาสตร์พัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ร่วมสัมมนาได้แก่ ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณ รัชพงษ์ สมงาม บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) คุณ สุดวิณ ปัญญาวงศ์ขันติ หุ้นส่วนไพรช์ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ประเทศไทย ในสายงานบริหารการตรวจสอบบัญชี และคุณ วีระเดช สมบูรณ์เวชชาการ ประธานกรรมการบริษัท วีพีพี โปรเกรสซีฟ จำกัด

ปัจจุบันแนวโน้มของการดำเนินงานทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไป จากการมุ่งแสวงผลกำไรเพียงอย่างเดียว สู่การแสวงหาผลกำไรไปพร้อมๆ กับการให้ความสำคัญแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR: Corporate SocialResponsibility มาปรับใช้ในองค์กร

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กล่าวว่า CSR เป็นการดำเนินกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยจะคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม จากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรภายในและภายนอกองค์กร ที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์การธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างความเจริญให้แก่สังคม เพราะเชื่อว่าธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ เนื่องจากธุรกิจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากสังคมรอบข้างไม่สามารถดำรงอยู่ได้

“ในปัจจุบันมีองค์กรหลายแห่ง ได้นำเอาเรื่อง CSR เป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด หรือนำไปขยายผลในการกีดกันการแข่งขันทางการค้า จนทำให้ CSR กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้แก่องค์กร มากกว่าที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม ทำให้ในวงการธุรกิจ มีทั้ง CSR แท้ และ CSR เทียมเกิดขึ้น ซึ่งการพิจารณา CSR นั้น จะพิจารณาจาก 2 ประเด็น คือ ประโยชน์ของกิจกรรมที่ได้รับตกอยู่กับสังคมหรือองค์กร และการทำกิจกรรมจะต้องเกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การทำตามหน้าที่ ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย หรือบรรทัดฐานทางสังคม” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ด้าน คุณรัชพงษ์ สมงาม ให้ความเห็นว่า การทำ CSR คือการทำสิ่งใดก็ได้ที่ไม่ทำร้ายโลกและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้บริหารต้องเป็นผู้นำ อาจมีการจัดการให้พนักงานทำ ซึ่งมีรูปแบบหลายหลาย พยายามหาพันธมิตรร่วมทำด้วย อย่าทำคนเดียว เก่งคนเดียว โดยขอให้สนใจเพียงแค่ว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งในโลกที่ไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้าน คุณวีรเดช สมบูรณ์เวชชการ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ CSR คือการทำอะไรที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รวมทั้งต้องให้พนักงานแทรกซึมแนวคิด ซึ่งสิ่งที่บริษัททำคือ โครงการส่งเสริมอาชีพอิสระให้แก่เด็กนักเรียน และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมาภิบาลเบื้องต้นให้แก่ตัวแทนนักเรียน

ส่วน คุณสุดวิณ ปัญญาวงศ์ขันติ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้เกิดเฉพาะกับสังคมเท่านั้น แต่เกิดกับพนักงานด้วย อย่างกรณีที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ เช่น เรื่อง โลกร้อน เพราะถ้าพนักงานสามารถปรับพฤติกรรมนำไปใช้ที่บ้านหรือที่อื่นๆได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำ CSR มีความจำเป็นมาก เพราะองค์กรจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหากสภาพแวดล้อมหรือชุมชนอยู่ไม่ได้ และจะอยู่ที่ไหนก็ตามพยายามทำให้ชุมชนนั้นอยู่รอด

จะเห็นได้ว่า ทุกองค์กรก็สามารถทำ CSR ได้ เพราะการทำ CSR ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงินหรือความถี่ของกิจกรรม แต่สามารถผนวกให้มีส่วนผสมของความรับผิดชอบทางสังคมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจได้


ภัทรพร ข. & วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ข้อมูลจาก G – Mag Government Magazine ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 กย. 2550



[Original Link]