Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กระแสบรรษัทบริบาล (CSR) ปีหนู


ในปี 2550 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ เราได้เห็นกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยด้วยความร้อนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการประชุมระดับโลกครั้งแรก ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ที่มีการกล่าวถึงทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งเน้นที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

กระแสแห่งการพัฒนาดังกล่าวได้ทวีความเข้มข้นและจริงจังขึ้น เมื่อนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ออกมาเรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก รวมทั้งประกาศ “The UN Global Compact” ในปี พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจ และในปีต่อมา องค์กรความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ก็ได้บรรจุเรื่องซีเอสอาร์ไว้ในแนวทางปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ โดยไม่เพียงแต่เสนอแนะให้บรรษัทข้ามชาติคำนึงถึงซีเอสอาร์ในองค์กรเองแล้ว ยังเสนอให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ติดต่อค้าขายกับเฉพาะคู่ค้าที่มีซีเอสอาร์เช่นเดียวกัน

สำหรับในประเทศไทย แนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาธุรกิจในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ในรูปของการทำบุญ การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการอาสาช่วยเหลืองานส่วนรวมที่เรียกว่า “การลงแขก” เป็นต้น เพียงแต่คนไทยยังมิได้เรียกกิจกรรมเหล่านี้ด้วยคำว่าซีเอสอาร์ที่ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กระแสซีเอสอาร์ในเมืองไทย ก็ได้ถูกจุดประกายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2549 และได้ถูกบรรจุเป็นแนวปฏิบัติที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือไปจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบที่อยู่นอกกระบวนการทางธุรกิจ เช่น การบริจาค หรือการอาสาช่วยเหลือสังคมเช่นที่ผ่านมา

เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นเครื่องชี้ถึงกระแสซีเอสอาร์ในปี 2550 ไม่ได้มีแต่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ยังรวมถึงภาครัฐและหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าร่วมปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาถึงการตั้งคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก 7 กระทรวง 5 สมาคม และ 12 ผู้เชี่ยวชาญ

ไปจนถึงการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งการเป็นแม่งานของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการจัดสัมมนาเรื่องซีเอสอาร์ในเวทีสำคัญต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น กระแสนี้ยังได้รับการยืนยันจากนักวิจัยด้านซีเอสอาร์ในต่างประเทศ โดยเมื่อไม่นานนี้ ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้ดูแลโครงการ Responsabilite Sociale des Entreprises (RSE) ในฝรั่งเศส และอาจารย์จาก Nottingham University Business School ในอังกฤษ ได้พูดถึงว่า กระแสซีเอสอาร์ของไทยในปีที่ผ่านมา ยังคึกคักกว่าที่ยุโรปซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมซีเอสอาร์ด้วยซ้ำไป

พัฒนาการของซีเอสอาร์ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก “กิจกรรม” รายครั้ง มาเป็น “กระบวนการ” ที่ต่อเนื่อง มีการนำเอาวิสัยทัศน์ ค่านิยม และพันธกิจขององค์กรมาพิจารณาร่วมในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมซีเอสอาร์ ผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ขององค์กร สะท้อนภาพที่ธุรกิจได้สร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร เป็นซีเอสอาร์ในลักษณะ Engaged CSR

องค์ประกอบของซีเอสอาร์ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะประกอบไปด้วยการเริ่มต้นจากในองค์กร ที่มีกระบวนการต่อเนื่องและมีความจริงจังในการแก้ปัญหาของผู้มีส่วนได้เสียในสังคมเสมือนเป็นลูกค้าคนสำคัญขององค์กร ด้วยมาตรวัดการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจที่ขาดส่วนประสมในองค์ประกอบเหล่านี้ ก็อาจถูกมองว่าทำซีเอสอาร์ในแบบฉาบฉวย หรือทำเพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์องค์กร มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ที่สังคมพึงได้รับ

สำหรับในปี 2551 พัฒนาการของซีเอสอาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น องค์กรธุรกิจจะยกระดับจากการที่ได้แสดงให้เห็นถึงพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านทางการดำเนินกิจกรรมในลักษณะ Engaged CSR แล้วระยะหนึ่ง มาสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบ โดยใช้การขับเคลื่อนกระบวนการซีเอสอาร์ที่เป็น High Performance CSR

ซีเอสอาร์ในลักษณะดังกล่าว จะเล็งผลเลิศจากตัวเนื้อกระบวนการ เริ่มกันตั้งแต่การพิจารณาประเด็นทางสังคมที่เหมาะสมกับองค์กร การออกแบบและพัฒนากิจกรรมเชิงกลยุทธ์ด้วยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและความสัมพันธ์ของปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงมาสู่การปรับแนวองค์กรเพื่อให้เกิดการผนึกพลังร่วมกับสังคม จนมาถึงการเผยแพร่งบผลลัพธ์ในแบบ 3 มิติที่ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในองค์ประกอบของกระบวนการซีเอสอาร์ที่เป็น High Performance CSR นี้ จะก่อให้เกิดสมรรถนะในการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์แก่องค์กรอย่างมาก แต่ทั้งนี้ จะต้องมีฐานมาจากการสร้างพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น

ในเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์จะเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของซีเอสอาร์ประจำปี 2551 เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะความรับผิดชอบสูง หรือ High Performance CSR ตอบรับกับกระแสซีเอสอาร์ที่จะยิ่งทวีความคึกคักขึ้นในปี 2551 นี้อย่างแน่นอน


[Original Link]