Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

พม. พร้อมขับเคลื่อนแนวคิด CSR


พม. พร้อมขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ตามแนวคิด CSR

นายชาญยุทธ์ โฆศิรินนท์ รองปลัดกระทรวง รักษาการแทนปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการแถลงข่าวการจัดงานสัมมนา ประจำปี 2550 เรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” เมื่อบ่ายวันนี้ (22 พ.ย.2550) ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้มีความตื่นตัวรณรงค์ให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญและส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐ ธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม โดยดำเนินการใน 5 เรื่อง คือ (1) การพัฒนาองค์กรและกลไกต่างๆ ให้ดีขึ้น (2) มีการสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจและองค์กรต่างๆ ตามความสมัครใจ (3) สร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนา และจัดการความรู้ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ (4) ในระดับรัฐจะต้องนำนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ไปขยายผล และ (5) พัฒนาเรื่องการบริหารจัดการ โดยอยู่บนพื้นฐานคุณธรรม คุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

นายชาญยุทธ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ความสำคัญและมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ได้ริเริ่มส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม ตามแนวทางของ CSR ด้วยการสนับสนุนให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านบรรษัทบริบาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ และพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป สำหรับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการประจำปี 2550 เรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจถึงแนวคิดของเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจขององค์กรให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล อันจะส่งผลให้คนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน



[Original Link]