Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กระแส CSR ในไทย "คึกคักกว่าที่ยุโรป"

สุวัฒน์ ทองธนากุล

ถ้าจะประเมินกระแส CSR ที่เกิดขึ้นกับวงการต่างๆ ของเมืองไทย ในรอบปี 2550 ที่เพิ่งผ่านมีประเด็นที่น่าสนใจครับ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า ถึงบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ในปีที่แล้ว "เป็นความร้อนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่การประชุมระดับโลกครั้งแรก ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ในปี 2535 ที่เรียกร้องให้มีทิศทางใหม่ของการพัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกรวมว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development)

ทั้งนี้โดยประมวลจากเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ไม่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ยังรวมถึงภาครัฐและหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าร่วมปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

มีการจัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 7 กระทรวง 5 สมาคม และ 12 ผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่มีการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ในการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

ดร.พิพัฒน์ บอกว่า ได้รับการยืนยันจากนักวิจัยด้านซีเอสอาร์ในต่างประเทศ โดยเมื่อไม่นานนี้ ได้มีโอกาสพบปะกับผู้ดูแลโครงการ Responsabiliti Sociale des Entreprises (RSE) ในฝรั่งเศส และอาจารย์จาก Nottingham University Business School ในอังกฤษ ได้พูดถึง กระแสซีเอสอาร์ของไทยว่าในปีที่ผ่านมา คึกคักกว่าที่ยุโรปซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมซีเอสอาร์ด้วยซ้ำไป

ก็อาจจะอธิบายความได้ว่าที่ดูเหมือน "คึกคัก" ก็เพราะมีการอ้างอิงถึงคำว่า CSR กันกว้างขวาง และมีการทำประชาสัมพันธ์กิจกรรมช่วยเหลือสังคมและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทองค์การที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

แม้การช่วยเหลือสังคมซึ่งคล้ายการสร้างกุศลซึ่งวัฒนธรรมไทยมีกิจการต่างๆจำนวนมากทำมาแต่ดั่งเดิมแล้ว แต่ที่ ดร.พิพัฒน์ ได้ชี้ให้เห็นว่า มีการพัฒนาการที่น่าสนใจดังนี้

พัฒนาการของซีเอสอาร์ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก "กิจกรรม" รายครั้ง มาเป็น "กระบวนการ" ที่ต่อเนื่อง มีการนำเอาวิสัยทัศน์ ค่านิยม และพันธกิจขององค์กรมาพิจารณาร่วมในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมซีเอสอาร์ ผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ขององค์กร สะท้อนภาพที่ธุรกิจได้สร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร เป็นซีเอสอาร์ในลักษณะ Engaged CSR

ผมมีความเห็นเสริมว่า การยกระดับให้เกิดความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) อย่างแท้จริงได้จริงจะต้องเกิดจากจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมหรือไม่สร้างความเสียหายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ซึ่งได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง สังคม และสิ่งแวดล้อม

องค์การหรือกิจการต่างๆ จะขับเคลื่อนไปด้วยจิตสำนึกแห่ง CSR จึงต้องการผู้นำและผู้บริหารที่มี "จิตอาสา" ในการเป็นผู้ประกอบการที่ดีและเก่งพร้อมช่วยเหลือสังคม ผูกพันต่อสังคมอย่างที่ ดร.พิพัฒน์ เรียกว่า "พันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม"

ดังนั้นเมื่อการมี CSR ที่ถูกต้องเริ่มต้นจากจิตสำนึกและค่านิยมในการบริหารกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าว ก็จะส่งผลให้กระบวนการทำธุรกิจ ไม่ว่าเป็นการผลิต การค้า การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน

ขณะเดียวกันการทำกิจกรรมช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีการใช้ทรัพยากรเงิน และสิ่งของต่างๆ ก็เป็นไปอย่างมีแผนต่อเนื่องและมีเป้าหมายที่ยั่งยืน คือไม่ใช่เป็นกิจกรรมเฉพาะจุดที่เสร็จงานแล้วก็จบแค่นั้น อาจเป็นการช่วยเหลือแบบฉาบฉวย

แต่แนวโน้มกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมเริ่มเห็นเป็นลักษณะกระบวนการอย่างต่อเนื่องและมีกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน อย่างเช่น โครงการสร้างฝายชะลอน้ำของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ที่มีการสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหลายภาคส่วนเช่น พนักงาน พันธมิตรธุรกิจ สร้างเครื่องมือในท้องถิ่นเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินและลดการสูญเสียน้ำตามแนว "รักษ์น้ำเพื่ออนาคต"

จนถึงขณะนี้ผ่านมา 1 ปี มีฝายชะลอน้ำจาการร่วมมือลงแรงสร้างแล้ว 6600 กว่าแห่ง และมีเป้าหมายจะทำให้ถึง 1 หมื่นฝาย ภายในปี 2552 สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกลยุทธ์การดึงคนในชุมชนมาร่วมทำงานด้วยก็คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของและก้คงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาจะตามมา

สำหรับ แนวโน้ม CSRในปี 2551 องค์การธุรกิจจะยกระดับจากการที่ได้แสดงให้เห็นถึงพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านทางการดำเนินกิจกรรมในลักษณะ Engaged CSR แล้วระยะหนึ่ง มาสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบ โดยใช้การขับเคลื่อนกระบวนการซีเอสอาร์ที่เป็น High Performance CSR ซีเอสอาร์ในลักษณะนี้จะเล็งผลเลิศจากตัวเนื้อกระบวนการ เริ่มกันตั้งแต่การพิจารณาประเด็นทางสังคมที่เหมาะสมกับองค์การ (Selective Issues) การออกแบบและพัฒนากิจกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Initiatives) ด้วยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและความสัมพันธ์ของปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงมาสู่การปรับแนวองค์กรเพื่อให้เกิดการผนึกพลังร่วมกับสังคม (Social Synergies) จนมาถึงการเผยแพร่สาระที่เป็นบผลลัพธ์ (Outcome Statement) ในแบบ 3 มิติที่ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

กระบวนการซีเอสอาร์ที่เป็น High Performance CSR นี้ จะก่อให้เกิดสมรรถนะในการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์แก่องค์กรอย่างมาก แต่ทั้งนี้ จะต้องมีฐานมาจากการสร้างพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น


[Original Link]