Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

นำร่อง “ซีเอสอาร์ แคมปัส” คึกคัก

เดินหน้าลุยดึงธุรกิจอีสานร่วม


วันเพ็ญ พุทธานนท์

โครงการเสริมความรู้ซีเอสอาร์สู่ภูมิภาค หรือ ซีเอสอาร์ แคมปัส เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันไทยพัฒน์ หน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องซีเอสอาร์ บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความรู้ด้านบรรษัทบริบาลในไทย ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ

การร่วมมือของ 4 พันธมิตร ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย เพราะเห็นว่าซีเอสอาร์มีความสำคัญ ที่ทุกองค์กรธุรกิจในขณะนี้ มีความตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจหน้าใหม่ที่เริ่มพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ ด้วยการลองผิดลองถูกได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทำให้ขาดทิศทางที่แน่ชัดว่ากิจกรรมซีเอสอาร์หลักๆ ที่องค์กรควรทำคืออะไร และที่ไม่ควรทำคืออะไร

รูปแบบกิจกรรมในโครงการดังกล่าว เป็นการฝึกอบรมโดยมีวิทยากรเป็นผู้บรรยาย ร่วมกับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อปพร้อมกรณีศึกษาใช้เวลา 6 ชั่วโมงต่อการฝึกอบรม 1 ครั้ง ในแต่ละจังหวัด โดยผู้เข้าร่วมอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

จากโครงการนี้ คาดว่าจะเป็นการสร้างเครือข่าย “Thai CSR” ที่มีโมเดลสอดคล้องกับสังคม ทั้งยังเชื่อมั่นว่ากิจกรรมซีเอสอาร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากห้องอบรมในแต่ละจังหวัด สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาซีเอสอาร์ท้องถิ่นในระดับชาติด้วย ที่สำคัญคือผลผลิตที่เป็นผู้ผ่านการอบรมจากโครงการจะมีโอกาสพัฒนาเป็น CSR Agent กระจายอยู่ในทุกจังหวัด รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

สำหรับความคืบหน้าของโครงการนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ช่วงแรก 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว โดยพบว่าได้รับการตอบรับจากนักธุรกิจ ภาคเอกชน และข้าราชการท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หลักสูตรอบรมช่วง พ.ค. ที่ต่อเนื่องในอีก 7 จังหวัดภาคอีสาน จะมุ่งเป้าไปที่การเสริมความรู้และเพิ่มกลยุทธ์ เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจอย่างแจ่มชัด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมไทย

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ เล่าว่า การอบรมใน 5 จังหวัด เริ่มที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งการบรรยาย CSR แบบเบื้องต้นและเจาะลึกรวมไปถึงการเสวนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อคิดค้นกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ขององค์กร และการจัดกลุ่มระดมสมองเพื่อร่วมค้นหาแนวทาง CSR ของ จ.ฉะเชิงเทรา

ผลของการค้นหาแนวทาง CSR ของจังหวัดร่วมกันนั้น โครงการ CSR ที่ได้รับการคัดเลือก คือ “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาแห่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำบางปะกงแบบบูรณาการ” มีรูปแบบกิจกรรมที่สำคัญๆ ได้แก่ การรณรงค์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าชายเลนและแม่น้ำบางปะกงแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำตลอดเส้นทางแม่น้ำบางปะกงด้วยการล่องเรือชมทัศนียภาพ โดยการร่วมมือของจังหวัด อบจ. และ ททท. การกำหนดมาตราการห้ามทิ้งน้ำเสียลงสู่แม่น้ำบางปะกง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาอ่างฤาไน และการฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน โดยการปลูกป่าชายเลนทดแทนส่วนที่ถูกทำลาย

ด้าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 2 นั้น ในระหว่างการบรรยายได้มีผู้เข้าร่วมอบรมซักถามและแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในเรื่อง CSR กันอย่างจริงจัง ส่วนกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ขององค์กรคือ “การสร้างเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน” แต่กิจกรรมที่ใช้เป็นแนวทาง CSR ของ จ.สมุทรปราการ คือ “โครงการลดโลกร้อนสัญจร มอบความรู้ สู่ชุมชน” โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่สำคัญๆ ได้แก่ การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนให้กับชุมชน การประกวดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการติดตามผลกับชุมชนต่อความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน

ขณะที่การเปิดอบรมหลักสูตร CSR ใน จ.นครนายก ซึ่งจัดเป็นแห่งที่ 3 นั้น จากการเสวนาเชิงปฏิบัติการ กิจกรรม CSR ของ จ.นครนายก มี 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการ “(นั่งเกวียน) ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” และโครงการ “รักษ์ธรรมชาติ” เพื่อการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า และรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือที่ดีในการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว

การบรรยายที่ จ.ปราจีนบุรี ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้นำเสนอแผน CSR หลากหลาย แต่โครงการที่สมาชิกเห็นถึงความน่าจะเป็นคือ “โครงการเกษตรดี มีมาตรฐาน” เป็นความร่วมมือระหว่าง สนง.เกษตรจังหวัด สนง.เกษตรอำเภอ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม พาณิชย์จังหวัด กลุ่มเกษตร และเทศบาล โดยรณรงค์ให้มีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ รณรงค์ให้มีการลด-เลิกการใช้สารเคมี และจัดให้มีงานประกวดผลิตผลทางการเกษตร

สำหรับที่ จ.สระแก้ว มีผู้นำเสนอกิจกรรม CSR ในปัจจุบันขององค์กรเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เช่น โครงการรักษาสิ่งแวดล้อมและทดแทนพลังงาน โดยการกำจัด-บำบัดของเหลือทิ้งจากฟาร์ม แต่สรุปผลการได้รับการคัดเลือกของเวที ที่จะใช้เป็นแนวทางกิจกรรมของจังหวัดคือ “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศน์” ในเชิงเกษตร สระแก้วเป็นแหล่งผลิตแคนตาลูปและหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นจังหวัดเดียวในภาคที่มีฟาร์มโคนม ในเชิงวัฒนธรรม สระแก้วมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อจำนวนมาก

นับจากนี้ สถาบันจะเดินหน้าขยายการจัดอบรมไปให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วไล่เรียงไปจนครบ ซึ่งผู้สนใจในแต่ละจังหวัดสามารถติดตามตารางเวลาการอบรม และเข้าร่วมอบรมได้ทางเว็บไซร์ csrcampus.com และตามสถานที่รับสมัครในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าทางสื่อต่างๆ