Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดมุมมอง CSR ผ่าน 3 กูรู


"เราไม่ได้ขอให้กิจการทำสิ่งที่ต่างไปจากการทำธุรกิจปกติ แต่เรากำลังขอให้กิจการทำธุรกิจเช่นปกตินั้น ด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิม"

คำกล่าวข้างต้น เป็นของนายโคฟี่ อัดนัน เลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ที่กล่าวไว้ในปี 2542 เรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก ซึ่งเป็นการจุดประกายและสร้างสำนึกให้ผู้ประกอบการทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านกระบวนการ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ Corporate Social Responsibility: CSR ที่นอกเหนือไปจากการสร้างผลกำไรทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ในประเทศไทย แนวคิดเรื่อง CSR ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี เพียงแต่ไม่ได้มีการเอ่ยถึง หรือเรียกสิ่งที่ทำเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นว่า คืออะไร

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ให้คำจำกัดความ CSR ที่ผ่านมาว่า อยู่ในรูปของการเข้าไปช่วยเหลือสังคม ซึ่งอยู่นอกเหนือกระบวนการทำธุรกิจ เช่น การบริจาคโลหิต งานอาสาสมัคร การปลูกป่า เป็นต้น แต่นับจากนี้ไป CSR ขององค์กร จะเป็นการเข้าทำงาน เชิงกลยุทธ์ หรือเข้าไปผนวกรวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจที่จะส่งผลกระทบ เชิงลบกับสังคม และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

โดยแบ่ง CSR ออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. ทำตามกฎหมายกำหนด 2. ทำเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 3. ทำเพราะเห็นว่าเป็นจรรยาบรรณทางธุรกิจ และ 4. ทำด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอยู่ที่การกำหนด "พันธะ" ขององค์กร เพื่อให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม และองค์กรจะต้องให้ความใส่ใจและทำอย่างต่อเนื่อง

"ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องคัดเลือกประเด็นทางสังคมที่เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญ และศักยภาพขององค์กร แต่ถ้าไม่มีความถนัดในเรื่องที่ต้องการทำ ควรมองหาพันธมิตรที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น"

ด้าน นายอนันตชัย ยูรประถม หัวหน้าโครงการเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทรรศนะว่า การทำ CSR ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องเริ่มจากภายในองค์กรทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน "โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า CSR เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจเดินไปสู่เป้าหมายได้โดยจะทิ้งร่องรอยของความเสียหายไว้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้น้อยที่สุด"

ขณะที่ ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุทธาสินี อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองที่สอดคล้อง ว่า การนำ CSR มาใช้ในเชิงกลยุทธ์จะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ และสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ในสายตาของผู้บริโภคได้อย่างมาก พร้อมกับเสนอแนะแนวทางปฏิบัติให้กับองค์กรไทยว่า จำเป็นต้องปฏิบัติทั้งในระดับองค์กร และในระดับเซ็กเตอร์ เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก

โดยเริ่มต้นด้วยการนำซีอีโอในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน มานั่งหาวิสัยทัศน์ร่วมกัน แล้วให้ผู้นำในกลุ่ม เป็นผู้เสนอและให้แนวคิดในการหาทางออกของปัญหาในอุตสาหกรรมนั้นๆ หลังจากนั้นจึงหาประเด็น เพื่อประชาสัมพันธ์ในกลุ่ม พร้อมกับจัดทำแผน ที่สำคัญสถาบันการศึกษาในประเทศจะต้องให้ความสนใจที่จะให้ความรู้ในเรื่องนี้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดขึ้น และสามารถเดินไปพร้อมๆกันทั้งระบบ "ภาครัฐเองก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยออกกฎหมายหรือกำหนดออกมาเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้เกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศต่อไป"


[Original Link]