Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เข็มทิศธุรกิจ ชูจุดเด่น นวัตกรรม

8 แนวทางบรรลุเป้าหมาย CSR

ปลายปีที่แล้ว คณะทำงาน ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน (CSR) ได้จัดทำคู่มือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม" (CSR Guidelines) ที่มีเรื่องราวของหลักการการดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม แต่หลักการดังกล่าวอาจเข้าใจได้ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มทำ

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน (CSR) จึงร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงจัดสัมมนาเรื่อง "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม : จากหลักการสู่แนวปฏิบัติ CSR" ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อขยายความเข้าใจในหลักการทั้ง 8 ข้อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

งานนี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ รับหน้าที่บรรยายในหัวข้อ "8 แนวทางเพื่อบรรลุ เป้าหมายธุรกิจที่มี CSR" ดร.พิพัฒน์ เริ่มต้นด้วยคำกล่าวที่ว่า "ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จภายใต้สังคมที่ล้มเหลว แม้ปรัชญาของธุรกิจคือการมุ่งแสวงหา ผลกำไร แต่เมื่อสังคมรอบข้างเราอยู่ไม่ได้ ธุรกิจของเราจะเก่งอย่างไรก็ไม่สามารถไปได้ดี" ตอกย้ำแนวคิดว่าทำไมธุรกิจถึงต้องทำซีเอสอาร์

และอธิบายต่อว่า ขณะนี้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์ในสังคมว่ามี 2 ประเด็นคือ E (environment) หมายถึงสิ่งแวดล้อม S (social) สังคม และ G (governance) การกำกับดูแลกิจการ อีกประเด็นหนึ่งคือ 3 P คือ planet (สิ่งแวดล้อม) people (สังคม) profit (บริษัท) ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นบริบทสำคัญในเรื่องของซีเอสอาร์ ในหนังสือเข็มทิศธุรกิจ

สำหรับแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายธุรกิจซีเอสอาร์ 8 แนวทางหรือเข็มทิศธุรกิจ มีดังนี้ แนวทางที่ 1 คือการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance) หรือ CG "ตรวจสอบได้ อธิบายได้ เชื่อถือได้" สรุปก็คือการทำธุรกิจอย่างไรไม่ให้คนเอื่นเขาว่าเราได้ โดยหลักนี้มีองค์ประกอบ 3 เรื่อง คือตรวจสอบได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วมีข้อสงสัยสามารถอธิบายได้หรือไม่ และสุดท้ายอธิบายแล้วเชื่อถือได้หรือไม่ วันนี้ CG เป็นส่วนหนึ่งของซีเอสอาร์ ที่จำเป็นต้องมี CG เป็นพื้นฐาน ซีเอสอาร์จึงควรจะเริ่มจากภายในบริษัทจึงจะทำออกสู่ภายนอกได้ดี

แนวทางที่ 2 เป็นเรื่องการเคารพและการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม "สุขภาพเงิน สุขภาพกาย สุขภาพใจ" คือไม่ต้องไปดูอื่นไกลให้ดูพนักงานของตนเองให้ ดีก่อน เมื่อพนักงานรู้สึกดีก็ทำงานด้วยความสุข

แนวทางที่ 3 ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค "ซื่อตรง ปลอดภัย ไว้วางใจได้" ผู้บริโภคก็คือลูกค้า เราต้องมีความซื่อตรงส่งมอบสินค้าตามความต้องการ มีความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องอาหารส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคระยะยาว มันมีความจำเป็นที่ต้องทำธุรกิจกับบริษัทที่มีซีเอสอาร์ เพราะหากทำธุรกิจกับบริษัทที่ไม่มีซีเอสอาร์บริษัทอาจเสียหายได้ สุดท้ายในเรื่องความไว้วางใจของลูกค้า การที่ดูแลลูกค้าอย่างดีก็คือประโยชน์ขององค์กร

แนวทางที่ 4 การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม "ไม่โกง ไม่กิน ไม่กัน" คู่ค้าก็เหมือนพันธมิตรทางธุรกิจเราจะต้องโตไปด้วยกันเมื่อเรามีเทคโนโลยีก็แบ่งปันกันก็แข็งแกร่งไปด้วยกัน กับคู่แข่งก็สามารถทำ ซีเอสอาร์ได้คือการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช‰อิทธิพลทางธุรกิจไปกีดกันธุรกิจรายเล็ก

แนวทางที่ 5 การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม "อย่าทำตัวเป็นภาระ อย่าดูดาย อย่าไร้กลยุทธ์" อย่าสร้างปัญหาให้กับสังคมเพิ่ม กลับมาดูว่ากระบวนการผลิตก่อปัญหาให้กับสังคมหรือไม่ ถึงไม่ได้สร้างปัญหา แต่ชุมชนที่อยู่รอบๆ เดือดร้อนก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย ที่สำคัญอย่าทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดเพราะแทนที่สังคมจะได้ประโยชน์กลับสิ้นเปลืองแต่ชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ต้องมีความต้องการทางสังคมบวกกับความเชี่ยวชาญ ต้องมองทั้งจากภายในสู่ภายนอก และจากภายนอกสู่ภายใน ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ

แนวทางที่ 6 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม "มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีคุณค่า" จะเห็นว่าองค์กรธุรกิจทำเรื่อง ซีเอสอาร์ลุกขึ้นมาทำซีเอสอาร์โดยผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว ต้องกลับไปดูว่าบริษัทควรทำอะไรต้องใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า เหมือนอย่างบริษัทหนึ่งที่ทำของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา เขาจะคำนวณเลยว่า ปีหนึ่งเขาใช้ไม่ยางพารากี่ตันแล้วเขาก็จะไปปลูกต้นยางพาราภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะได้ต้นไม้กลับคืนมา

แนวทางที่ 7 นวัตกรรมและการเผยแพร่ จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม "มีหัวคิด (เก่ง) มีจิตใจดี มีความเป็นผู้นำ" เรามีแนวคิดในการสร้างสรรค์และแบ่งปันดีกว่าการเลียนแบบ จะได้ความยั่งยืน ธุรกิจเข้าใจดีว่านวัตกรรมทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่นเดียวกับการทำ ซีเอสอาร์ก็ต้องมีนวัตกรรมและเผยแพร่ให้องค์กรอื่นทำตามได้ด้วย เพื่อทำให้เกิดพลังร่วมในธุรกิจ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจไม่ให้มีศัตรู สามารถสร้างสรรค์กิจกรรม ซีเอสอาร์ที่ทำผลให้สังคมและเกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

แนวทางที่ 8 การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม "ทำจริง บอกตรง ครบถ้วน" การที่เราจะนำกิจกรรมซีเอสอาร์มาลงรายงานต้องทำจริง อย่าจ้างใครมาปั้นแต่ง คนที่รู้ดีที่สุดคือคนที่ทำ และรายงานตามความเป็นจริงอาจมีข้อผิดพลาดหรือทำไม่สำเร็จก็รายงานตามนั้น ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ทำให้สังคมไว้วางใจ และต้องมีความครบถ้วนและเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดเพื่อทำให้รอบด้านตามศักยภาพที่เรามี

"ปัจจุบันหลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติและมาตรฐานทางซีเอสอาร์ มีมากมาย UN Global Compact, OECD Guidline, ISO 26000, GRI (Global Reporting Initiative) และสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จุดร่วมของมาตรฐานแต่ละแห่งจะมีคือ เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม บรรษัทภิบาล พนักงาน จุดเด่นของ ก.ล.ต. คือเรามีเรื่องนวัตกรรม อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับรองตามมาตรฐานแต่จุดสำคัญอยู่ที่สังคมจะสามารถตรวจสอบได้ ฉะนั้นการทำซีเอสอาร์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีจุดร่วมระหว่างผู้บริหารและพนักงานทั้งจากบนลงล่างและล่างขึ้นบน" ดร.พิพัฒน์กล่าวในที่สุด


[Original Link]