Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ตัวช่วย "พัฒนาสังคม" แก้วิกฤติ

ผลสะท้อนจากเวทีร่วมเอกชนคนถิ่นอีสาน

Corporate Social Responsibility : CSR กำลังเป็นที่สนใจ ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมหลากหลายด้าน เนื่องจากเอกชนและภาคประชาสังคม เริ่มตระหนักในการเอาใจใส่ดูแลร่วมแก้ไขปัญหาสังคมมากกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากกระแสการเป็น good global citizenship ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ขณะที่ปัญหาสังคมไทยอันเกิดจากผลลัพธ์แห่งการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน กำลังส่งผลแผ่ขยายกระทบกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะประชากรภาคธุรกิจจะได้รับผลพวงเชิงลบยิ่ง หากธุรกิจนั้นต้องตกอยู่ในสังคมอันเน่าเฟะ กระแสเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นกระแสหลักที่องค์กรธุรกิจเริ่มจริงจังในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้

ผลสะท้อนดังกล่าว ปรากฏเห็นได้จากส่วนหนึ่งของการลงพื้นที่พบปะภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในระดับภูมิภาคโดยสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยเก็บข้อมูลด้านซีเอสอาร์ ร่วมมือกับเอกชน ได้แก่ แคท เทเลคอม ดีแทค และ โตโยต้า และร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม และกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านซีเอสอาร์ และการเสวนาเรื่อง “CSR ถิ่นแคนแดนอีสาน” ขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้

เวทีประชุมใหญ่สรุปรวมเกี่ยวกับซีเอสอาร์ 19 จังหวัดอีสาน ดังกล่าว ได้มีการสรุปภาพรวมผลการระดมสมองแนวนโยบายซีเอสอาร์ภาคอีสาน พบว่าการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นนโยบายซีเอสอาร์ที่ชาวอีสานเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการมากที่สุดถึง 44% รองลงมาก็คือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (23%) และอันดับที่ 3 คือ การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม (17%) ที่เหลือเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติแรงงานอย่างเป็นธรรม (9%) และการกำกับดูแลกิจการหรือบรรษัทภิบาล (7%)

ทั้งนี้ ในการเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นตลอดจนการนำเสนอโมเดลซีเอสอาร์ เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของประชาคมอีสาน พบว่าปัญหาของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งระบุว่าขอนแก่นมีการพัฒนามุ่งสู่ความเจริญตามรอยของการพัฒนาเมืองใหญ่ แต่การพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทำให้ขอนแก่นก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมือง ซึ่งนับจากนี้ไปการร่วมด้วยช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาจะกลายเป็นภารกิจของทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่างการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรมของโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ปัญหาโดยภาครัฐลำพัง ทำได้ไม่สำเร็จ รองผู้ว่าฯ ได้เสนอแนะว่าหากคนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน นำหลักการของซีเอสอาร์มาประยุกต์ใช้ จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างจริงจังยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์กับส่วนรวม

"อดีต สังคมไทยมีความเอื้ออาทรมาก แต่ช่วงหลังถดถอยไป ผมคิดว่าการดูแลสังคมจะต้องมาจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจด้วย ลำพังภาครัฐคงทำได้ไม่ทั้งหมด เพราะสังคมเรามีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น ในบางพื้นที่ของภาคอีสานพบว่า เด็กครึ่งชั้นเรียนมีปัญหา เด็ก ม.1 เริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศ ปัญหาสำคัญจึงเป็นเรื่องเด็กและการศึกษา” รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าว

นายสุรพล ทวีแสงสกุลไทย ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ เป็นเรื่องที่หอการค้าให้ความสนใจเผยแพร่กับบริษัทสมาชิก และให้เรื่องของ ซีเอสอาร์ เป็นเรื่องของการทำความดีร่วมกัน หากคนในสังคมช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยในการดูแลชุมชนหรือสังคมรอบตัว ก็จะทำให้ปัญหาลดน้อยลง เช่น ลูกจ้างเรียกร้องนายจ้างเสียสละ ลูกจ้างก็ต้องเสียสละด้วย มีความเอื้ออาทรต่อกัน คนอีสานนั้น ปลูกฝังเรื่องซีเอสอาร์ไม่ยาก เพราะชอบงานบุญ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ทำให้คนอีสานทำซีเอสอาร์ได้ดี

ขณะที่ นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น มองว่า ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระดับภูมิภาคมีค่อนข้างมาก ในสังคมโรงงานต่างจังหวัด นักธุรกิจจะต้องรู้จักเสียสละ ต้องมีคำว่าพอให้เป็น

"อย่างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ มีปัญหาตลอด นายจ้างต้องยอมเสียสละ ยอมเฉือนเนื้อตนเอง เอากำไรน้อยลง ให้ลูกน้องอยู่ได้ ขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องอยู่ได้ด้วย แม้ว่าลูกจ้างอาจจะไม่พอใจ แต่ก็ต้องยอมลดความต้องการของตัวลงด้วย เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ โดยที่นายจ้างต้องเสียสละก่อน” นายวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับการระดมสมองซีเอสอาร์ระดับจังหวัด พบว่าประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของชาวขอนแก่น คือ เรื่องของวิกฤติจราจรและแนวทางแก้ไข ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อยได้เสนอถึงปัญหาการจราจรที่กำลังรุกรานความสงบสุขของผู้ใช้รถใช้ถนนในจังหวัดขอนแก่น จึงมีการเสนอทางแก้โดยให้เข้มงวดในเรื่องวินัยจราจร ให้มีการจัดโครงการคาร์พูล จัดให้มีสถานีวิทยุรายงานสถานการณ์จราจร ให้บริษัทเอกชนจัดรถรับส่งพนักงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนการปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรตั้งแต่ในระดับโรงเรียน เป็นต้น

แนวทางซีเอสอาร์ของจังหวัดขอนแก่น อีกเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ คือ โครงการเยาวชนต้นกล้า โดยปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเกษตร การปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อย้ำเตือนเยาวชนให้ตระหนักในอาชีพดั้งเดิมของคนไทยได้สืบต่อถึงคนรุ่นหลัง อีกทั้งยังช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมจากโรงเรียนในท้องถิ่นที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือกัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว โดยแบ่งกลุ่มการพัฒนาคน 3 วัย ได้แก่ วัยเด็ก ผู้ใหญ่ และ ผู้สูงอายุ มีการจัดกิจกรรมไว้ 5 ระดับ ได้แก่ กิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนครองคู่ กิจกรรมเตรียมกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ในครรภ์ กิจกรรมการคิดสร้างสรรค์แต่เยาว์วัย กิจกรรมครอบครัวเสริมกายใจ และกิจกรรมผู้สูงวัยสายใยรัก ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อคนทั้งสามวัย

สำหรับการลงพื้นที่ทั้งหมด 19 จังหวัด เพื่อสร้างจิตอาสาพัฒนาสังคม จะนำเสนอเป็นเชิงนโยบายซีเอสอาร์ เพื่อขับเคลื่อนแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบูรณาการร่วมกับแนวทางซีเอสอาร์ในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย


[Original Link]