Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR ปีนี้ กิจการในตลาดหุ้นว่าไง

สุวัฒน์ ทองธนากุล

ถ้ากล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ที่กำลังเป็นกระแสสากลมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน องค์กรใดไม่สนใจหรือประพฤติผิดแนวทางเห็นจะไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะกิจการที่เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งระดมเงินจากตลาด จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ และคุณธรรม จึงจะได้รับความเชื่อถือจากสังคม และผู้ลงทุน

ข่าวการฉ้อฉลของบางบริษัทที่ถูกจับได้ การใช้วิชาการเอาเปรียบผู้ถือหุ้น จึงเป็นกระบวนการทำธุรกิจที่ผิดหลัก CSR หรือบริหารกิจการโดยผิดหลักธรรมาภิบาล และย่อมผิดหลักจริยธรรม ไม่ว่ากฎหมายจะตามทันหรือผู้มีหน้าที่จะเอาจริงแค่ไหนก็ตาม

เมื่อสัปดาห์ก่อน สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ในสังกัดตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลง “ทิศทางและวิสัยทัศน์ CSR ปี 2552 มุ่งหวังให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีส่วนรับทราบถึงแนวโน้มและทิศทางการทำ CSR ในปี 2552 จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปปรับเป็นกลยุทธ์การทำ CSR ขององค์กรที่เหมาะกับธุรกิจและสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน สอดคล้องกับภารกิจหลักของสถาบันฯ ที่เน้นสร้างความต่อเนื่องในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียน เพื่อยกระดับมาตรฐานบรรษัทภิบาลที่ดีของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในภูมิภาค”

งานนี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้เผยผลการศึกษาแนวโน้มและพัฒนาการของ CSR ในปีนี้ว่า องค์กรธุรกิจที่พัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ได้ดีในระดับหนึ่ง จะยกระดับการพัฒนาสู่กิจกรรม CSR เชิงสร้างสรรค์ (Creative CSR) ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมและการทำงานร่วมกันในการพัฒนากิจกรรม CSR และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคม (Socially-Friendly Products) เพื่อสร้างให้เกิดผลกระทบที่เป็นคุณค่าเพิ่ม (Value-Added Impact) แก่สังคม

6 ทิศทาง CSR ปี 2552 มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

ทิศทางที่ 1 : ธุรกิจจะปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อสังคม จากแนว ECO-CONSCIOUS มาสู่ SOCIAL CONCERN มากขึ้น

กิจกรรมเพื่อสังคมประเภท “ECO-Conscious” ในปีที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายองค์กรธุรกิจนำ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ การแจกถุงผ้า การจัดการขยะ การประหยัดพลังงาน เพื่อกระตุ้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อความเป็นอยู่ของตัวเราเองให้มีคุณภาพดีไปด้วย

ปัญหาและผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดการเลิกจ้างและการลดกำลังการผลิตของกิจการ ทำให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งมีการวางแผนการบริหารแรงงานในองค์กรเพื่อให้คงไว้ซึ่งผลิตภาพ หรือมีการวางมาตรการในการช่วยเหลือผู้ว่างงาน โดยใช้กิจกรรม CSR เป็นเครื่องมือ

ในปีนี้ การพัฒนาแรงงานที่มุ่งเน้นการจ้างงาน (Employment) จะหันมาสู่การมุ่งสร้างความสามารถในการมีงานทำ (Employability) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถในหลายๆ ด้าน หรือเปิดโอกาสให้แรงงานได้พัฒนาศักยภาพของตนเองนอกเหนือจากงานที่ทำ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับงานใหม่ๆ เมื่อองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง

ทิศทางที่ 2 : แนวคิดในการตั้งผู้รับผิดชอบหรือคณะทำงานด้าน CSR จะแผ่ขยายจากองค์กรธุรกิจเอกชน เข้าสู่รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

การกำหนดผู้มีความรับผิดชอบด้าน CSR (Corporate Responsibility Officer: CRO) ในผังองค์กรของหลายแห่ง ในปีที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ CSR ชัดเจน แต่การด่วนสรุปตั้งฝ่าย CSR อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องของฝ่าย CSR ซึ่งจะทำให้งาน CSR ขับเคลื่อนไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมจากพนักงานอย่างเต็มที่ ฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจว่า “CSR เป็นเรื่องของทุกคน มิใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง มีแนวโน้มตั้งผู้รับผิดชอบหรือคณะทำงานด้าน CSR ขึ้นเพื่อเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมการดำเนินงานด้าน CSR ขององค์กร โดยมีการกำหนดนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีกลยุทธ์ เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนการประเมินผลทั้งในระดับผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลต่อการถ่ายโอนน้ำหนักความสำคัญจากกิจกรรม CSR-after-process) มาสู่กระบวนการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (หรือ CSR-in-process) มากขึ้น

ทิศทางที่ 3 : รูปแบบของ CSR จะพัฒนาจาก “Strategic CSR” สู่ “Creative CSR”

ธุรกิจหลายแห่งมีการพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจากการคำนึงถึงความต้องการหรือปัญหาที่แท้จริงของชุมชนที่เข้าไปดำเนินงานด้าน CSR จนสามารถสร้างคุณค่าร่วมกัน (Shared Value) ระหว่างกิจการและสังคมขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญในเนื้อกิจกรรม CSR ที่เกิดขึ้น จะส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) ขององค์กรในระยะยาวด้วย

ในปีนี้ องค์กรธุรกิจที่พัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ได้ดีในระดับหนึ่ง จะยกระดับการพัฒนาสู่กิจกรรม CSR เชิงสร้างสรรค์ (Creative CSR) ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมและลักษณะการทำงานร่วมกันในการพัฒนากิจกรรม CSR ที่ก่อให้เกิด ค่านิยมเดียวกัน (Common Value) ของทั้งกิจการและสังคม การดำเนินงาน CSR เชิงสร้างสรรค์นี้ จะทำให้ องค์กรกับสังคม เกิดความสนิทชิดใกล้ การทำงานด้าน CSR แนวใหม่ๆ ที่เป็นผลดีต่อการพัฒนาขีดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (Cohesiveness) ระหว่างกัน

ทิศทางที่ 4 : ธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคม (Socially-Friendly Products) มากขึ้น

กระแสสีเขียว (Green) ได้ผลักดันภาคธุรกิจหันมาพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้วิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment - LCA) เพื่อที่จะหาหนทางในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ในปีที่ผ่านมา ก็มีความตื่นตัวในการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ หน่วยงานของรัฐมีการกำหนดปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2554 เป็นต้น

นอกจากนี้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability Law) ในปีนี้ จะมีผลทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า ตลอดจนได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นธรรม ซึ่งรวมไปถึงความเสียหายต่อจิตใจด้วย

ทิศทางที่ 5 : CSR ในสายอุปทาน (Supply Chain) จะทวีความเข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเสียหายที่เกิดจากการขาดความรับผิดชอบจนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก จนมี การบังคับใช้มาตรฐานและข้อปฏิบัติด้าน CSR กับสินค้าส่งออกนำเข้าของประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวและรับมือกับมาตรการเหล่านี้ให้ได้

ธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งออกนำเข้าจะต้องรับมือกับข้อกำหนดใหม่ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เรื่อง CSR จะถูกถ่ายทอดจากผู้ประกอบการหนึ่งในสายอุปทานเป็นทอดๆ จนกลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ

สำหรับกิจการที่ปลอดจากกระแสกดดันให้ทำ CSR ทำ CSR ด้วยความยินดีที่จะช่วยเหลือรับผิดชอบสังคมโดยสมัครใจ จะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือชุมชนในระดับฐานราก สามารถสร้างรายได้ด้วยการให้เข้าร่วมอยู่ในสายอุปทานหรือเป็นผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในธุรกิจ ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business)

ทิศทางที่ 6 : หลักสูตรและวิชาด้าน CSR ในสถาบันการศึกษา จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในปีนี้สถาบันการศึกษาจะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับ CSR กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาจะมีการยกเครื่องวิชาจริยธรรมทางธุรกิจที่มีมาช้านาน ให้ครอบคลุมเนื้อหา CSR ที่ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน หลายแห่งได้มีการบรรจุวิชา CSR เข้าไว้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ขณะที่บางแห่งมีแผนที่จะเปิดเป็นหลักสูตร CSR ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท พร้อมทำการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2552 นี้เลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า ขณะที่กิจกรรมเพื่อสังคมที่มีลักษณะสร้างบุญกุศล (Philanthropy) ทั้งเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ CSR ในแง่การแสดงออกที่ดีต่อสังคม แต่ยังต้องครอบคลุม ส่วนที่สำคัญกว่า คือ CSR ในกระบวนการ (CSR-in-process) ซึ่งต้องอยู่ในนโยบายองค์กรที่จะทำการผลิตและการค้า การลงทุน ด้วยความเก่งและดี คือมีธรรมาภิบาลด้วย


[Original Link]