Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เมื่อ CSR ผลิบานในเวทีโลก


เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) บัดนี้ได้กลายเป็นวาระในทุกๆ เวทีการประชุมระดับภูมิภาค นับตั้งแต่การประชุมเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2551 การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 และล่าสุดที่เพิ่งสิ้นสุดไปสดๆ ร้อนๆ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยในการประชุมทั้ง 3 เวที ถือได้ว่าเป็นการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนมีการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR จนทำให้เรื่อง CSR มิได้เป็นเพียงวาระขององค์กร หรือวาระในอุตสาหกรรม หรือวาระแห่งชาติ แต่มันได้กลายเป็นวาระนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว

CSR กับ ASEAN
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการหารือและรับรองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) โดยมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
-พัฒนานโยบายสาธารณะต้นแบบด้าน CSR หรือกลไกทางกฎหมายที่ใช้อ้างอิงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปี 2553 โดยตัวบทที่อ้างอิงอาจมีการอ้างถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ISO 26000 เรื่อง "แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม"
-ผสานภาคเอกชนให้ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรรายสาขาและมูลนิธิอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
-สนับสนุนให้เกิดการรับและนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากลมาใช้ และ
-เพิ่มการรับรู้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในอาเซียนไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับชุมชนในถิ่นที่ตั้ง โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นฐาน

CSR กับ APEC
ขณะที่การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ได้มีการหารือถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR เช่นกัน โดยระบุว่าเนื่องจากสมาชิกเอเปคต่างมีระดับการพัฒนาและการใช้ CSR ที่แตกต่างกัน แต่ CSR มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีในภูมิภาค ดังนั้น การมีนโยบาย CSR ที่ดีขององค์กรเอกชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ความสำเร็จของการมี CSR ที่ดีจะต้องมาจากข้อริเริ่มของภาคเอกชนเอง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสมาชิกมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน อาจพิจารณานำเอาแนวปฏิบัติด้าน CSR ขององค์กรระดับโลกมาปรับใช้ โดยเอเปคควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของ CSR และมอบหมายให้องค์กรภายในเอเปคที่เกี่ยวข้องร่วมกับ ABAC (The APEC Business Advisory Council) พัฒนาเป้าหมายการดำเนินงานของเอเปคด้าน CSR เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2552 ต่อไป

CSR กับ ASEM
ส่วนในการประชุมเอเชีย-ยุโรปหรือ ASEM ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ก็ได้มีการประกาศปฏิญญาปักกิ่งว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้แสดงถึงความตระหนักในเรื่อง CSR ที่มีความเกี่ยวโยงระหว่างกันกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แรงงานและสิทธิมนุษยชน การประเมินความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และการพัฒนาชุมชน ที่ประชุมฯ จึงผลักดันให้สมาชิกอาเซมส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนผลักดันให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสมัครใจ ปฏิบัติตามข้อบังคับท้องถิ่นรวมถึงบรรทัดฐานและกฎหมายสากลที่เกี่ยวข้อง


[ประชาชาติธุรกิจ]