Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กลยุทธ์ปลุก CSR กิจการในตลาดหุ้น

สุวัฒน์ ทองธนากุล

นับเป็นข่าวดีที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์จัดโครงการ CSR DAY เพื่อผลักดันให้ในตลาดหุ้นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของหลัก CSR โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ แถมได้ บจ. 2 รายแรก ดีแทคและบางจาก ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีร่วมให้การสนับสนุน

โครงการนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ในสังกัดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ จะรณรงค์ให้จัดกิจกรรมวันซีเอสอาร์ หรือ CSR DAY ขึ้นในสถานประกอบการ ที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อแนวทางและกิจกรรม CSR ขององค์กร

ทั้งนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นตัวเชื่อมโยงโครงการสู่บริษัทจดทะเบียนและกิจการที่สนใจ รวมทั้งเป็นผู้บริหารภาพรวมการจัดตารางกิจกรรมของโครงการ ขณะที่สถาบันไทยพัฒน์จะเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้าน CSR และเวทีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการให้แก่พนักงานในบริษัทจดทะเบียนและองค์กรที่สนใจ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หน่วยงานในสังกัดมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเห็นว่า “องค์กรธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาในการขับเคลื่อนงาน CSR โดยส่วนใหญ่ มิได้มีสาเหตุมาจากการขาดทรัพยากรหรือขาดความรู้ในเรื่อง CSR

แต่เกิดจากการขาดช่องทางหรือพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วม มีข้อมูลที่ค้นพบในหลายกรณี ชี้ให้เห็นว่า แม้บางองค์กรธุรกิจจะได้ดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา แต่กลับพบว่า พนักงานในองค์กร กลับมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วย

โครงการ CSR Day จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างช่องทางหรือพื้นที่ในการสร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน ก็จะช่วยให้มีประสิทธิภาพและการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานด้าน CSR ของแต่ละองค์กรมีมากยิ่งขึ้น

ลักษณะกิจกรรมในโครงการ CSR DAY จะใช้เวลาครึ่งวัน (3 ชั่วโมง) ในการบรรยายหัวข้อ CSR ที่เหมาะสมกับองค์กรที่จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพนักงาน การระดมความคิดกิจกรรม CSR ที่สร้างสรรค์ และการร่วมค้นหาแกนนำ CSR เพื่อทำการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กร โดยเนื้อหาที่ถ่ายทอดระหว่างการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วยความรู้ CSR เบื้องต้นที่ถูกต้อง ทิศทางและพัฒนาการ CSR ในปัจจุบัน CSR เชิงกลยุทธ์ และ CSR เชิงสร้างสรรค์ CSR แบบไหนที่เหมาะสมกับองค์กร และสำคัญที่สุดคือ แนวทางการสร้างความส่วนร่วมของพนักงาน

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือการได้รับการสนับสนุน เริ่มต้นจาก 2 บริษัทจดทะเบียนที่มี่ความโดดเด่นในการดำเนินงานด้าน CSR คือ บริษัท โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิชั่น หรือ ดีแทค และบมจ.บางจากปิโตรเลียม

ผู้สนับสนุนที่ว่านี้ จึงเริ่มจากกิจการที่มี CSR อยู่ในกระบวนการทำธุรกิจ (CSR In Process) อยู่แล้วและยังพร้อมจัดบุคลากรเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์

พีระพงษ์ กลิ่นละออ ในหมวกผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นหน่วยงานแกนนำสังกัด CSR ของดีแทค จึงยืนยันว่า การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ทั้งหลักทฤษฎีและแนวปฏิบัติ เพื่อการพัฒนากิจกรรม CSR จะช่วยให้ ในที่สุด ทุกๆ วันที่องค์กรปฏิบัติงานก็จะกลายเป็นวัน CSR เหมือนปณิธาน CSR “ทำดีทุกวันของดีแทค”

ขณะที่ วัฒนา โอภานันท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม ซึ่งกำกับดูแลสายงานสื่อสารองค์กรและฝ่ายกิจการสัมพันธ์ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ CSR ยืนยันสนับสนุน โครงการ CSR Day เต็มที่

ทั้งนี้ เพราะแนวคิดและนโยบายของ “บางจาก”มีมาตั้งแต่ก่อตั้งกำหนดเป็นวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานที่จะ “พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม”

ขณะที่วัฒนธรรมพนักงานถูกหล่อหลอม เพื่อ “เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” โดยไม่เอาเปรียบ ดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต สร้างสมดุล ซึ่งกันและกันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อยุทธศาสตร์ธุรกิจองค์กรดำเนินไปด้วยวัฒนธรรมองค์กรและผลักคนที่ถูกปลูกฝังใฝ่ดีเช่นนี้ จึงเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร

งานนี้ “บางจาก” สนับสนุนทั้งความรู้ประสบการณ์และจัดอาสาสมัครพนักงานไปร่วมคิดร่วมทำกับกิจการที่สนใจพัฒนาการมี CSR โดยส่งเสริมพนักงานให้มีส่วนร่วมใจร่วมกายด้วยดี


ข้อคิด
น่ายินดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนให้กลไกในสังกัด คือ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เดินหน้าผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จุดประกายให้พนักงานมีส่วนดำเนินงานด้วยแนวทาง CSR

เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯอันเป็นที่รวมของบริษัทสมาชิกและบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีบทบาทและการบริหารกิจการล้วนส่งผลต่อผู้ลงทุน

นี่เป็นบทบาทที่น่าเห็นผลชัดขึ้นกว่า 2ปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยทำแค่เผยแพร่ความรู้ แต่จากนี้ไปจะชี้นำแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยเป้าหมาย 50 บริษัทสำหรับปีนี้

ทั้งนี้การกำกับดูแลจะมีกฎระเบียบอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้บริหารและพนักงานยึดมั่นในจริยธรรม นอกจากไม่ผิดกฎหมายและกฎระเบียบ ยังดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือมี CSR ต่อผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน คือ สร้างคุณค่าให้บุคคลภายในองค์กร ภายนอกองค์กร รวมทั้ง สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวองค์กรพร้อมไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

โครงการ CSR Day จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเชิงสังคมที่เป็นสีสันวันเดียว แต่เป็นวันที่จุดประกายความคิดเพิ่ม เพื่อความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของทั้งองค์กร ในการจะร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งตัวองค์กรพร้อมไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

“บริษัทจดทะเบียน”และบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำธุรกิจอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม พร้อมด้วยการเกื้อหนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและส่งผลต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน



[Original Link]