Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

คิกออฟ CSR Day กรณีศึกษา "แบงก์ เกียรตินาคิน"


วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 กระทรวงการคลัง ได้สั่งให้บริษัทเงินทุนหรือไฟแนนซ์ทั้งหมด 58 แห่ง ระงับการดำเนินธุรกิจ และ ธนาคารเกียรตินาคิน คือ 1 ใน 58 สถาบันการเงินที่ถูกสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ แต่ระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว เกียรตินาคิน เป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กลับมาดำเนินกิจการ ขณะที่รายอื่นๆ ยังไม่ฟื้น และบางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ จึงมีคำถามว่า ทำไมสถาบันการเงินแห่งนี้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คำตอบส่วนหนึ่งก็คือความตั้งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล และปลูกฝังให้พนักงานทุกคนรู้จักคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

ฐิตินันท์ วัธนเวคิน รองประธาน มูลนิธิธนาคารเกียรตินาคิน และประธานสายธุรกิจเงินฝากและการตลาด ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บอกว่า องค์กรของเกียรตินาคินนับตั้งแต่ก่อตั้งมาถูกปลูกฝังตั้งแต่ต้นว่า ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานทุกคนต้องรู้จักคำว่า ธรรมาภิบาล ทุกคนถูกปลูกฝังให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ วัน ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ลูกค้า องค์กร รวมถึงสังคมภายนอก

ด้วยเหตุนี้เองเกียรตินาคินจึงเป็นองค์กรแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการ CSR Day โดยได้รับคัดเลือกจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRi) ภายใต้การทำกิจกรรม “CSR Day: 1st CSR Day @ Kiatnakin” เพื่อปลูกฝังแนวคิดว่าทุกๆ วันสามารถเป็นวันที่พนักงานของธนาคารฯ ร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้

สำหรับโครงการ CSR Day เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRi) สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยความสนับสนุนจากโครงการทำดีทุกวันจาก DTAC และ บางจากปิโตรเลียม เพื่อเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรต่อแนวทางและกิจกรรม CSR ขององค์กร

“ครั้งแรกที่เห็นโครงการนี้เราก็สนใจทันที พอได้คำแนะนำถึงโครงการนี้ เราก็ส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่สาขา และให้สาขาทำการคัดเลือกพนักงาน ปรากฏว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก จากทั้งหมด 37 สาขา แต่เราคัดเลือกมาแค่ 50 คนก่อน เป็นพนักงานต่างหวัด 30% ที่เหลือเป็นในกรุงเทพฯ” ผู้บริหารกล่าวและว่า การเข้าร่วม CSR Day เพราะต้องการให้พนักงานได้เข้าใจ CSR มากขึ้น โดยเฉพาะการทำแผนแม่บทระยะยาว 3 ปีของแต่ละสาขา

“ผลจากการจัดโครงการ 1st CSR Day @ Kiatnakin ทำให้เราสามารถคัดเลือกพนักงานทำหน้าที่ผู้แทนด้านกิจกรรม CSR หรือที่เรียกว่า KK CSR Agents ได้ 60 คน เพื่อทำหน้าที่รณรงค์ให้เพื่อนพนักงานเข้าใจเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างถูกต้องตามหลักสากล และเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานในกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารฯ และมูลนิธิธนาคารเกียรตินาคิน และที่สำคัญเราจะมีการวัดผลจากการทำโครงการนี้ด้วย ซึ่งปีนี้เราตั้งเป้าทำ CSR ผ่านพนักงานให้มากที่สุด จากเดิมที่เคยทำผ่านพนักงานอยู่ที่ 40% ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 60%”

สำหรับการทำ CSR Day เกียรตินาคินถือเป็นองค์กรแรกที่ Kick off โครงการนี้ ซึ่งได้เริ่มทำกิจกรรมเมื่อเร็วๆ นี้ โดยใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมง ในช่วงแรกเป็นการสัมมนาถึงหลักการและแนวคิดของ CSR โดยผู้ทำการอบรมและทำเวิร์คชอป คือ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์

ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ อธิบายว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่การบรรยายจากวิทยากร แต่ได้ให้พนักงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมมีการเสนอตัวอย่างการทำ CSR ของพนักงาน สำหรับกิจกรรมในช่วงระดมสมองนี้ ได้มีการเสนอตัวอย่างแนวทาง CSR ขององค์กรที่น่าสนใจ 6 กิจกรรม ในหัวข้อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติด้านแรงงาน การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม และผู้บริโภค พร้อมตัวบ่งชี้ความสำเร็จทั้ง ด้าน Input และ Output ตลอดจน Outcomeรวมทั้ง Impact ที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กร

นอกจากการเรียนรู้ด้านทฤษฎีแล้ว สิ่งสำคัญของการทำ CSR Day อยู่ที่การจัดทำเวิร์คชอป เพื่อให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม ซึ่งในครั้งนี้ตัวอย่างการทำ CSR จากจำนวน 84 เรื่องนั้น ปรากฏว่าพนักงานให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 20.24% รองลงมาคือชุมชนและสังคม 17.86% และด้านเพื่อนร่วมงาน 15.48% พร้อมกันนี้ก็ได้มีการแนะนำแนวปฏิบัติและมาตรฐาน CSR ที่เกี่ยวข้อง ตามด้วยการระดมความคิดต่อแนวทาง CSR ขององค์กร โดยผลที่ได้จากการระดมสมองนั้น มีกิจกรรมที่ได้รับการลงความเห็นว่าควรที่จะต้องดำเนินการก่อนมีอะไรบ้าง

หลังจบการทำ CSR Day ในแต่ละครั้งแล้ว สิ่งที่คาดหวังคือ การให้องค์กรแห่งนั้นนำทฤษฎีและการทำเวิร์คชอปถ่ายทอดต่อไป จนสามารถสร้างบุคลากรภายในองค์กรขึ้นมา เพื่อสานต่อ CSR Day ได้ด้วยตัวเอง


[Original Link]