Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

YOUNG CSR ภาคอีสาน จุดประกายสร้างคุณธรรมคู่กำไร

รายงานพิเศษ
โดย สุภาวดี รัตนโสภา


ปัจจุบันกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ corporate social responsibility (CSR) ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรุงเทพฯ หากแต่ได้ขยายมาสู่ภูมิภาคและในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับมูลนิธิชุมชนโคราช, กลุ่ม CSR โคราช, หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, บมจ.กสท โทรคมนาคม, บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และโตโยต้า มอเตอร์ จัดประชุมและเสวนาเรื่อง "Young CSR ภาคอีสาน" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค หรือ CSR Campus จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากประสบความสำเร็จในครั้งแรกที่ภาคกลาง

การเสวนาเริ่มขึ้นด้วยการบรรยายเรื่อง "การเป็นองค์กรพลเมืองที่ดีกับ CSR เชิงสร้างสรรค์" โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า หน้าที่ของพลเมืองจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและให้ประโยชน์ต่อสังคม ใช้หลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน ซึ่งการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดีต้องมีขอบเขต, กลยุทธ์, โครงสร้าง, การดำเนินงาน, ตัวชี้วัด และการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถทำให้บูรณาการได้ทั้งองค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการไม่ใช่เพียงมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน แต่ยังรวมถึงการกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานผลต่อสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย

รวมทั้งกระบวนการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ หรือการคิด CSR เชิง "ยุทธศาสตร์" จะต้องใช้พลังงานจากสมองซีกซ้ายในการวิเคราะห์หาเหตุผล ความคุ้มค่า ต้นทุน ประสิทธิภาพ ขณะที่กิจกรรม CSR เชิงสร้างสรรค์นั้นจะถูก ปลดปล่อยออกมาจากสมองซีกขวาเป็นการคิด CSR ในเชิง "ยุทธศิลป์" ที่ต้องอาศัย ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความรู้สึกเป็นสำคัญ

ประเด็นสำคัญคือการประชุมระดมสมองในหัวข้อ Creative CSR ระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยผู้เสวนาได้โฟกัสการ creative CSR เน้นในนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง หลังจากนั้นจึงจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ และทำเป็นต้นแบบ CSR ของภาคอีสาน

ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะประธานเครือข่ายเพื่อสังคมโคราช (CSR KORAT) กล่าวว่า กิจกรรม "เดิ่นตนเดิน เต๊อะเตินโคราช" เป็นกิจกรรมแรกที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครราชสีมาร่วมกันจัดขึ้น จุดประกายให้แก่โครงการ CSR KORAT ที่ได้รับความสนใจ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของผู้คนในสวนเขาดิน บ้านหนองรังกา ตำบลโคกกรวด มีวิถีชีวิต ที่ดีขึ้น สามารถฟื้นความเป็นโคราช โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ ฟื้นกำลังใจคน ฟื้นชุมชน ฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นวัฒนธรรม ท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่เรื่องการพัฒนา ความคิด จิตใจ ความสามัคคี

และการจัดงานในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นสำหรับการเสริมสร้างสังคมด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบที่ "CSR KORAT" มีต่อสังคมโคราช ปัจจุบันมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น ธุรกิจของสวนเขาดินดีขึ้น ชาวบ้านออกมาพูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์มากขึ้นด้วย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมวิถีชีวิตเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงนำไปสู่กิจกรรมดีๆ ที่ CSR KORAT จะดำเนินการต่อไป

การระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทาง CSR อีสาน มีการเสนอหลายด้าน สรุปได้ 3 ประเด็น

1.ประเด็นวัฒนธรรม ที่ต้องการ "ฟื้นเมืองเก่า และวัฒนธรรมดั้งเดิมโคราช" ได้แก่ ถนนลิเก (Kolly Wood) "Kollywood" (โคลีวูด) หมายถึง เมืองฮอลลีวูด ที่เป็นศูนย์รวมความบันเทิงของประเทศสหรัฐอเมริกา "Kollywood" (โคลีวูด) นำเอา Korat และ Hollywood มารวมกันเป็น Kollywood โดย Hollywood โคราชจะอยู่ในชุมชนสวายเรียง ถ.มุขมนตรี เนื่องจากพื้นที่ละแวกสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือหัวรถไฟ (ชื่อเรียกของภาษาถิ่น) ในอดีตกว่า 30 ปี พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งรวมความบันเทิงชาวอีสาน โดยเป็นที่ตั้งของชุมชนลิเกหรือตลาดลิเก และชุมชนหมอเพลงเมืองโคราชที่มีอยู่กว่า 30 คณะ ใครต้องการจะว่าจ้างคณะลิเก หรือหมอเพลงโคราช สามารถติดต่อได้ที่นี่ คาดว่าโครงการ Kollywood จะสามารถดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

2.ประเด็นเศรษฐกิจ ได้แก่ การรณรงค์ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเชิง CSR จะต้องเริ่มจาก อาทิ สร้างจิตสำนึก เข้มงวดกวดขันสอดส่องดูแลการทำงานของภาครัฐให้มากกว่าที่ผ่านมา สร้างนโยบายในการร่วมรณรงค์การไม่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นต้น และกิจกรรมความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเชื่อมโยงการทำ CSR กับรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เพื่อทำ CSR ร่วมกัน

3.ประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำตะคอง เริ่มจากสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อมและลำตะคองที่ไหลผ่านชุมชนแออัดในเขตเมืองนครราชสีมาทั้ง 7 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเกษตรสามัคคี 2, ชุมชนบุมะค่า, ชุมชนสำโรงจันทร์, ชุมชนทุ่งสว่าง ศาลาลอย, ชุมชนท้าวสุระ ซอย 3, ชุมชนหลังวัดสามัคคี และชุมชนทุ่งมหาชัย นำเสนอปัญหาของแต่ละชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันแสวงหาแนวทางในการแก้ไข จัดตั้งกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมใน 7 ชุมชน เป็นต้น

น่าติดตามว่าในอนาคต Young CSR อีสานจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่


[Original Link]