Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จาก CSR in process ถึง Product Responsibility


“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน CSR ทั้งในระดับมหภาคและการพัฒนา CSR ในระดับองค์กรธุรกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางของ CSR ประเทศไทยในอนาคตที่ ดร.พิพัฒน์ มองเห็นจึงน่าสนใจ ในฐานะที่ประเทศไทยนั้นอยู่ในฐานะ “ผู้ตาม” ที่ต้องตามเกมที่ถูกกำหนดมาจากฝั่งตะวันตก ตลอดจนแรงกดดันที่เกิดขึ้นมาจากมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ ISO 26000 ที่กำลังจะประกาศใช้

“ถ้าพูดถึงเฉพาะสถานการณ์ CSR บ้านเราในวันนี้เป็นขบวน ผมมองว่า พวกหัวขบวนหรือองค์กรที่เป็นผู้นำเรื่องนี้นั้นไปรอดแล้ว ในขณะที่องค์กรที่เป็นกลางขบวนที่ทำ CSR ซึ่งมีการพัฒนาไปในระดับหนึ่งแล้วจะยาวขึ้น ขณะที่ท้ายขบวนคือองค์กรที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ CSR เลยจะมีสั้นลง”

ดังนั้น หากจะขับเคลื่อนและยกระดับ CSR ในไทยวันนี้ ไม่เพียงแต่องค์กรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาครัฐ ฯลฯ จะต้องตีโจทย์ให้แตก ขณะเดียวกันย่อมต้องชี้ทางเดินที่ถูกต้องให้เขา

“เราต้องยอมรับว่าเมื่อกลางขบวนมีมากขึ้น การที่จะให้ความรู้อย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ต้องยกระดับให้คนที่ทำงาน CSR โดยชี้ให้เห็นจุดสำคัญของการขับเคลื่อนและให้เขาเดินต่อไปเอง เพราะ CSR ไม่ใช่แพ็กเกจสำเร็จรูป ที่แบบเดียวกันสามารถใช้ได้กับทุกองค์กร ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร ดังนั้นสิ่งที่สถาบันฯ พยายามทำคือการสร้าง train the trainer เพื่อต่อยอดความรู้เขาให้แข็งแรงขึ้น”

“จากการทำงานที่ผ่านมาไม่ว่าองค์กรระดับไหน ทุกคนกำลังพยายามปรับตัว โดยสิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าอนาคตนับจากนี้ภายในองค์กรต้องพยายามสร้างให้เกิดคือ การสร้าง CSR Agent เพราะถึงแม้จะมีกลยุทธ์แล้ว แต่ไม่มีคนเคลื่อนและยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายองค์กรพยายามหันมาเน้นหนักในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถ้าองค์กรจะเดินหน้าเรื่องนี้แล้วก็ต้องพาพนักงานไปด้วย โดยองค์กรต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วมโดยเปิดพื้นที่ ให้เขาร่วมคิด ร่วมพูด และร่วมทำ หรือเป็นแพลทฟอร์มของความร่วมมือ (Collaboration Platform) ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดใหม่ และสร้างสรรค์”

เป็นนวัตกรรมใหม่ในการทำ CSR ที่เรียกว่า Creative CSR ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม โดยใช้ศักยภาพที่องค์กรมีทั้งหมด และก้าวข้ามการตั้งต้นในแง่ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับซึ่งถือเป็นบันไดที่สำคัญในอนาคต และจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Socially responsibility product ซึ่งเป็นอีกขั้นของการทำ CSR ที่จะสร้างคุณค่าได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมาผมพยายามพูดเรื่อง CSR in process เพื่อให้มีความรับผิดชอบในกระบวนการผลิตและก็ไปได้ดี แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามที่จะพูดเรื่องการสร้างคุณค่าใหม่ให้ได้มากขึ้น โดยผ่านการทำฝัง CSR ลงไปในโปรดักส์ที่เป็นทั้งสินค้าและบริการ เพราะเราเชื่อว่าทุกครั้งที่เกิดการใช้ จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมซึ่งเกิดผลกระทบเชิงบวกได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่มีความต่อเนื่องได้มากกว่าการทำเพียงโครงการเพื่อสังคม”

ดังนั้นแม้วันนี้ไทยจะก้าวมาถึงระดับหนึ่ง แต่เขาก็เชื่อว่ายังต้องมีก้าวต่อโดยองค์กรต้องตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “ทำดีได้ หรือทำได้ดีกว่า” ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งของการพัฒนา CSR ในอนาคต!!


[ฉบับแทรก: The Future of CSR]