Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

4 กลยุทธ์เพิ่มดีกรี CSR สร้างกระแสขับเคลื่อนทั่วประเทศ


• เผยผลสำรวจด้านซีเอสอาร์ ขององค์กรธุรกิจปี 52
• สถาบันไทยพัฒน์ ระบุคนกรุงรู้จักมากกว่าคนตจว.
• เปิดรายชื่อแชมป์จังหวัดที่โดดเด่นด้านซีเอสอาร์
• แนะ 4 แนวทางสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรอบด้าน


ในโอกาสที่ OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) ร่วมกับ ILO, UN Global Compact และ GRI ได้เข้ามาจัดงานสัปดาห์การค้าและการลงทุนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมกับการเปิดเวทีประชุมภูมิภาคเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ (Corporate Responsibility)

ในหัวข้อ "Why Responsible Business Conduct Matters" โดยในการประชุมนี้ ทาง OECD ได้มอบหมายให้สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง 'การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย' (Responsible Business Conduct in Thailand) และให้นำเสนอผลการศึกษาบางส่วนในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

คนกทม.รู้จัก CSR มากกว่า คนตจว.
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ เปิดเผยว่า จากการสำรวจการรับรู้ในเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้เวทีส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค ในโครงการ CSR Campus ปี 2552 ด้วยการสนับสนุนของ 3 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ แคท เทเลคอม ดีแทค และโตโยต้า ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 6,300 คน พบว่า

สำหรับในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 69.54 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 30.46 ขณะที่ในส่วนภูมิภาค รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 38.32 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 61.68 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 4,350 คน

“การที่ผู้ประกอบการตอบว่าไม่รู้จัก CSR มาก่อนนั้น มิได้หมายความว่า ในองค์กรมิได้มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ไม่ทราบว่า สิ่งที่ตนเองหรือหน่วยงานดำเนินอยู่นั้น เรียกว่า CSR ซึ่งคำเรียกที่องค์กรเหล่านี้คุ้นเคยกว่า ได้แก่ ธรรมาภิบาล, จริยธรรมทางธุรกิจ, การดำเนินงานที่เป็นธรรม, ความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์, การช่วยเหลือสังคม, การบริจาค, การอาสาสมัคร ซึ่ง กิจกรรมหรือการดำเนินงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของ CSR ทั้งสิ้น”

คำกล่าวนี้ยืนยันได้ด้วยข้อพิสูจน์ จากการสำรวจความเข้าใจของผู้ประกอบการ หลังจากที่ได้อธิบายชี้แจงว่า สิ่งที่องค์กรได้ปฏิบัติอยู่นั้น จัดเป็นเรื่องของ CSR โดยผลสำรวจ ปรากฎว่าร้อยละ 96 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,853 คนจากทั่วประเทศ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

หัวเรือขับเคลื่อน CSR วิสาหกิจใหญ่กทม.
จากผลการศึกษาของสถาบันไทยพัฒน์ สะท้อนให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อน CSR ในวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือ LEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ70) จะเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะที่สำหรับ SMEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ70) จะเกิดขึ้นในภูมิภาค โดยชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) เทียบกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการวางทิศทางการขับเคลื่อน RBC ในประเทศไทย

“เนื่องจากในทางปฏิบัติระดับของการทำ CSR ระหว่าง LEs และ SMEs จะมีความแตกต่างกัน ตัวเลขของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2551 มีจำนวน 2,836,377 แห่ง เป็น LEs 4,586 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.2 และ SMEs 2,827,633 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.7 (ที่เหลือร้อยละ 0.1 ไม่ได้ระบุ)

การกระจายตัวของวิสาหกิจตามภูมิศาสตร์ พบว่าร้อยละ 70 ของ LEs อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 30 อยู่ในภูมิภาค ขณะที่ร้อยละ 30 ของ SMEs อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 70 อยู่ในภูมิภาค โดยหากพิจารณาบทบาทของวิสาหกิจตามขนาดกิจการที่มีต่อมูลค่า GDP ในปี 2551 พบว่า LEs มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 46.3 หรือ 4.21 ล้านล้านบาท ขณะที่ SMEs มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 37.9 หรือ 3.45 ล้านล้านบาท”

เมื่อพิจารณาในส่วนของการจ้างงาน ในปี 2550 มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดรวมทั้งสิ้น 11.71 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงานใน LEs จำนวน 2.81 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24 และเป็นการจ้างงานในSMEs จำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด

เผย 5 จ.ว. โดดเด่นด้าน CSR
การให้ความสำคัญต่อกิจกรรม CSR หากพิจารณาการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมใน 5 หมวด ได้แก่ หมวดการกำกับดูแลกิจการ หมวดการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม หมวดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมวดการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ที่รวมถึงเรื่องการต่อต้านการให้สินบน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรอื่น ๆ ในสายอุปทาน และหมวดการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม พบว่า

จังหวัดที่คำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการมากสุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ มหาสารคาม สตูล กาฬสินธุ์ กรุงเทพมหานคร และอ่างทอง จังหวัดที่คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมมากสุด ได้แก่ อ่างทอง กรุงเทพมหานคร สกลนคร ลำปาง และกาญจนบุรี

จังหวัดที่คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากสุด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี สมุทรสงคราม ระยอง และระนอง จังหวัดที่คำนึงถึงการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรมมากสุด ได้แก่ อุบลราชธานี พิษณุโลก หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ และปัตตานี และจังหวัดที่คำนึงถึงการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมากสุด ได้แก่ ชัยนาท สุรินทร์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และพะเยา

เมื่อพิจารณาประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมตามการจำแนกของ OECD Guidelines ที่ประกอบด้วย หลักการทั่วไป การเปิดเผยข้อมูล การจ้างงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การต้านทุจริต การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขัน และการเสียภาษี โดยเปรียบเทียบระหว่างแนวปฏิบัติสากลกับแนวปฏิบัติของไทยที่จัดทำโดยคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถแสดงได้ดังตาราง

เปรียบเทียบแนวปฏิบัติด้าน CSR

ที่สุดของจังหวัดซีเอสอาร์
ในการสำรวจการให้ความสำคัญต่อกิจกรรม CSR ที่มีต่อองค์กรมากที่สุด ในปี 2552 ซึ่งประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจเรื่อง CSR ในองค์กร การบูรณาการเรื่อง CSR ทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารเรื่อง CSR การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนิน CSR ขององค์กร การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR และการเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจ

ผลการสำรวจพบว่า จังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเรื่อง CSR ในองค์กรมากสุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ลำพูน สงขลา ชัยภูมิ ระนอง และภูเก็ต จังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการเรื่อง CSR ทั่วทั้งองค์กรมากสุด ได้แก่ แพร่ พะเยา นครนายก นครพนม และเชียงราย จังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่อง CSR มากสุด ได้แก่ เลย สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี และเพชรบุรี จังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนิน CSR ขององค์กรมากสุด ได้แก่ ตราด กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ สระบุรี และอำนาจเจริญ

จังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR มากสุด ได้แก่ สิงห์บุรี ลพบุรี กำแพงเพชร ตรัง และยโสธร และจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจมากสุด ได้แก่ ลพบุรี ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา และสกลนคร

แนะแนวขับเคลื่อนซีเอสอาร์
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ยังแนะนำในการขับเคลื่อน CSR ในประเทศไทย นอกเหนือจากข้อแนะนำถึง OECD ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้เรื่อง OECD Guidelines ให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นโดยใช้กลไกของการจัดตั้ง National Contact Point (NCP) ขึ้นในประเทศไทยในอนาคต ในรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้ระบุข้อแนะนำ 4 ประการ สำหรับการขับเคลื่อน CSR ในประเทศไทย ไว้ดังนี้

ข้อแรก- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องและทั่วถึง ทั้งนี้ก้าวแรกของการดำเนินงาน CSR ให้บังเกิดผล คือ บุคลากรทั้งในระดับผู้บริหารและพนักงานต้องมีความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้อง มิฉะนั้น การทำ CSR ก็จะถูกขับเคลื่อนไปอย่างผิดทิศผิดทาง

ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยที่สุด คือ การที่องค์กรเข้าใจว่า CSR คือ การตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบของการบริจาค ซึ่งในความเป็นจริง โดยขอบเขตครอบคลุมตั้งแต่การปฏิบัติตามกฎหมายและเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเสียภาษี และการกำกับดูแลองค์กร นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน

ประเด็นต่อมา คือ การที่พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกว่าเรื่อง CSR เกี่ยวข้องกับตนเอง แต่กลับเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายงานหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการ จึงทำให้การขับเคลื่อน CSR ขององค์กรนั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กิจการต้องสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรได้ตระหนักว่า CSR นั้นเป็นเรื่องของทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ

ทั้งนี้ ในผลสำรวจเรื่องการรับรู้ CSR ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเทียบกับในภูมิภาค ได้แนะนำให้เรามุ่งความสำคัญไปที่ภูมิภาค เนื่องจากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่ถูกสำรวจ พบว่ายังไม่ได้มีการรับรู้เรื่อง CSR เท่าที่ควร

“สิ่งที่รัฐควรดำเนินการ คือ เน้นส่งเสริมให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง CSR ทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ด้านเอกชนควรจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน CSR โดยมีองค์กรอย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย เป็น facilitator เนื่องจากมีเครือข่ายสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ”

ขณะเดียวกัน ภาคการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษา ควรส่งเสริมผลิตตำราและสื่อการเรียนรู้ด้าน CSR อย่างเป็นระบบ และสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ รวมทั้งการผลิตงานวิจัยด้าน CSR ร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศ

ข้อสอง - บูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ การบรรจุเรื่อง CSR ไว้ในนโยบายหรือจัดทำเป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่เรื่องยาก แต่การมีกลไกที่แปลงแผนงานไปสู่การปฎิบัติลงมือทำ และให้พนักงานในทุกระดับผูกพัน (engage) กับเรื่อง CSR นั้น เป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง

ขณะที่ SMEs ส่วนใหญ่ มักไม่ได้มีนโยบายหรือแผนงานที่จับต้องได้เหมือนกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ การบูรณาการเรื่อง CSR สำหรับ SMEs จึงต้องฝากไว้กับบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้นำองค์กรให้เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน

“รัฐควรสร้างให้เกิดบรรยากาศการดำเนินงาน CSR ด้วยการสร้างสิ่งจูงใจหรือมาตรการทางการเงินการคลังที่สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจผนวกเรื่อง CSR ไว้ในกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้เกิดเป็นขบวนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบอย่างกว้างขวาง ขณะที่กิจการควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้าน CSR ที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งการเสริมสร้างสมรรถภาพ (competency) การดำเนินงาน CSR อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่ขององค์กร และควรมีการพัฒนาระบบจัดการและมาตรการทั้งในระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับบุคคลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการดำเนินงานด้าน CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร”

ข้อสาม- เน้นการสื่อสารที่สอดคล้องตรงตามความเป็นจริงและทันเวลา ทั้งนี้ปัญหาที่พบบ่อยในองค์กรอีกเรื่องหนึ่งคือ พนักงานในองค์กรไม่ได้รับทราบถึงสิ่งที่องค์กรดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่อง CSR จึงทำให้การมีส่วนร่วมของคนในองค์กรมีน้อย โดยปัญหาเดียวกันนี้ยังพบได้กับการสื่อสารสู่ภายนอกขององค์กร โดยที่สังคมมิได้รับทราบถึงสิ่งที่องค์กรดำเนินการเลยทำให้เข้าใจไปว่า องค์กรของเรามิได้ดำเนินการหรือให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR อย่างจริงจัง

ปัญหาอีกประการหนึ่งขององค์กรที่ได้ดำเนินการสื่อสารเรื่อง CSR แต่พบว่า มีทั้งการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงบางอย่าง การขยายผลของการกระทำให้ดูใหญ่โตเกินจริง และการให้ข้อมูลที่ล่าช้าเกินไป จนทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าการดำเนินงาน CSR ที่แท้จริงลง

ในหลายกรณี การใช้การประชาสัมพันธ์ (public relation) มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร CSR กลับให้ผลน้อย หรือด้อยความน่าเชื่อถือกว่าการรายงานสาธารณะ (public reporting) ที่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ทั้งด้านบวกและด้านลบ อันจะเป็นผลดีแก่องค์กรในระยะยาว

“รัฐควรสร้างเครื่องมือในการเฝ้าสังเกต (monitor) และควบคุมสื่อที่เข้าข่ายการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เกินจริง การนำเสนอกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกิจการที่ดำเนินธุรกิจอบายมุข และที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมอย่างร้ายแรง สำหรับธุรกิจควรมีการประเมินผลการสื่อสารเรื่อง CSR ที่ไม่ก่อให้เกิดผลในทางลดทอนคุณค่าการดำเนินงาน CSR ที่แท้จริงลง และคำนึงถึงการสื่อสารที่ตอบสนองและครอบคลุมถึงความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง”

ขณะที่สื่อมวลขนควรทำหน้าที่เป็นหน้าด่านในการเป็นผู้นำเสนอตัวอย่างที่ดีแก่สังคม และคัดกรองเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่วางเฉย รวมทั้งต้องไม่ให้อิทธิพลของธุรกิจอยู่เหนือสำนึกรับผิดชอบในทางที่รับใช้หรือให้บริการโดยคำนึงถึงเพียงเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่จะได้รับ

ข้อสี่-ส่งเสริมความริเริ่มรายสาขา (sectoral initiatives) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยแนวโน้มการรวมกลุ่มองค์กรธุรกิจในการดำเนินงาน CSR ได้ขยายไปสู่ตลอดสายอุปทาน กระแสกดดันให้องค์กรธุรกิจจำต้องดำเนิน CSR เห็นได้อย่างชัดเจนในกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก หรือกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของรายการสินค้าตามพิกัดศุลกากร จะพบว่า ในปี 2551 การส่งออกของประเทศโดยรวมนั้น มีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องจักรและส่วนประกอบรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ

ขณะที่ SMEs มีการส่งออกในสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าประเภทพลาสติกและของทำด้วยพลาสติก และกลุ่มสินค้าประเภทยางและของทำด้วยยาง

“รัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และยานยนต์ ได้ศึกษาเตรียมความพร้อมหรือเข้าร่วมในความริเริ่มในรายสาขาดังกล่าว โดย SMEs ในกลุ่มธุรกิจส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการด้าน CSR ของคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณี พลาสติก และยาง”

ขณะที่หน่วยงานอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าไทย ควรทำงานเชิงรุกในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการสร้างความรู้ความเข้าใจในบริบทการค้าโลกยุคใหม่ที่มีการนำเรื่อง CSR มาเป็นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง


[ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์]