Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดผลศึกษาเที่ยวล่าสุด "CSR ประเทศไทย"

ทางออกธุรกิจรับมือ...มาตรฐาน

คงไม่ต้องอธิบายความกันยืดยาวหากพูดถึงชื่อของ "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ โดยเฉพาะในแวดวงคนที่ขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในประเทศไทย

แต่สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคย ถ้าจะกล่าวโดยรวบรัดต้องบอกว่า ดร.พิพัฒน์ถือเป็น นักวิชาการที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน CSR ในไทยมายาวนาน ทั้งในการขับเคลื่อนระดับนโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนการ ผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นในระดับองค์กร

ล่าสุด องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบของธุรกิจผ่านการออกแนวปฏิบัติ หรือ OECD MNE Guidelines มาตั้งแต่ปี 2543 ได้ให้สถาบันไทยพัฒน์ ศึกษาถึงสถานการณ์ด้านความรับผิดชอบของธุรกิจในประเทศไทย "Responsible Business Conduct in Thailand" ซึ่งแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่จากนี้คือ ผลศึกษาบางส่วนที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้พูดคุยกับเขา หลังเขานำเสนอข้อมูลบางส่วนระหว่างการประชุมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง OECD และภาคีได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

เกมรุก OECD Guidelines ในไทย
ดร.พิพัฒน์มองว่า "การที่ OECD เข้ามาจัดประชุมในไทยรวมถึงสิ่งที่ให้ทางสถาบันศึกษาสถานการณ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจไทย นั่นคือสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะรุกเข้ามาส่งเสริม OECD Guidelines ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่ และในภูมิภาคนี้เขาก็ให้ความสำคัญกับไทยในระดับต้น ๆ จากความเคลื่อนไหวของไทยที่ในช่วงหลังมีพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรมากขึ้นเป็นลำดับ"

โดยจากการศึกษาของสถาบันไทยพัฒน์ ถึง "ความรับผิดชอบของธุรกิจในไทย" ในครั้งนี้ทำให้เห็นภาพใหญ่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน CSR ได้ใน 2 ภาพหลัก

ภาพแรก คือ ลักษณะของการส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ

"โดยทั่วไปคนอาจจะมองว่าธุรกิจขนาดใหญ่หรือ multinational enterprise : MNE มีมูลค่าในการให้สูงกว่า แต่จากการศึกษาในบริบทของประเทศไทย จะเห็นว่า SMEs นั้นถือเป็นกลุ่มที่สำคัญหากจะขับเคลื่อน CSR ในภาพใหญ่ โดยมูลค่าทางธุรกิจสัดส่วนของ MNE คือ 46% และ SMEs 38% ดังนั้นในเชิงผลกระทบจะเห็นว่าการที่บอกว่า MNE สำคัญกว่า SMEs คงไม่ได้"

ส่อง CSR การพูดและกระทำนับวันยิ่งห่าง
ภาพที่ 2 ในเชิงของพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระดับองค์กรไทยในปัจจุบัน มีพัฒนาการทั้งเรื่องการกำหนดให้ความรับผิดชอบอยู่ในระดับนโยบาย บางองค์กรก็ลงลึกไปถึงระบบบริหารจัดการ (management) รวมถึงการผสานลงไปอยู่ในกระบวนการธุรกิจ

"ขณะนี้เราพยายามที่จะตรวจสอบสถานะที่บริษัทประกาศว่า การพูดกับการทำ CSR วันนี้ห่างกันแค่ไหน เพราะจากการสำรวจในระดับโลก "โกลบอลสแกน" พบว่าปัจจุบันการพูดกับการทำด้านความรับผิดชอบของบริษัทกำลังห่างกันออกไปเรื่อย ๆ ในลักษณะที่พูดมากกว่าทำ เพราะฉะนั้นตรงนี้คืออันตราย และไม่ใช่จะเป็นอันตรายเฉพาะกับสังคมอย่างเดียว แต่ยังเป็น อันตรายต่อธุรกิจในอนาคตด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ CSR ก็เป็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วสังคมและเอ็นจีโอก็จะไม่ให้ความเชื่อถือ (creditability) อีกทั้งความน่าเชื่อถือของประเทศก็หมดไปด้วย ซึ่งจะทำให้กระทบภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด ทีนี้ต่อไปใครจะลุกขึ้นมาทำ CSR คนก็จะไม่ให้คุณค่า ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่อันตราย"

4 ทางออกสู่การสร้างความเข้มแข็ง
จากผลการศึกษาครั้งนี้ นอกเหนือจากการที่แนะนำให้ OECD ก่อตั้ง NCPs ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกลางในประเทศไทยที่จะเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากต้องการขยายผูใช้แนวปฏิบัติ (user) ในภูมิภาคนี้

"เรายังเห็นว่าถ้าจะส่งเสริมให้ CSR มีความเข้มแข็งในไทย จะต้องดำเนินการ ใน 4 เรื่อง เรื่องแรกคือการสร้างความแข็งแกร่งในเรื่ององค์ความรู้เรื่อง CSR เพราะจากผลสำรวจ 30% ของธุรกิจในกรุงเทพฯยังไม่รู้จัก CSR ขณะที่ในต่างจังหวัดไม่รู้จักมากกว่าคือเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แต่คำว่าไม่รู้จักหมายถึงการที่ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน เพราะฝรั่งเองก็ตกใจที่เราบอกว่าในกรุงเทพฯมีองค์กรที่ยังไม่รู้เรื่อง CSR สัดส่วนมากขนาดนี้ แต่ในการสำรวจมีการศึกษาทั้งก่อนหน้าและหลังให้ความรู้ โดยหลังจากที่ให้ความรู้แล้วพบว่า 90% องค์กรธุรกิจไทยทำ CSR เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียก CSR"

"เรื่องที่ 2 คือการส่งเสริมผสมผสาน CSR เข้าไปในธุรกิจ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่มีการตั้งแผนก CSR ซึ่งในท้ายที่สุดต้องนำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพราะพอมีการตั้งแผนกคนในส่วนอื่น ๆ ขององค์กรก็ไม่ทำ ดังนั้นเราจึงพยายามเสนอแนะว่าในการส่งเสริม CSR ในไทยต้องมีวิธีการในการผสมผสาน CSR ให้เข้าไปอยู่ในทุกฟังก์ชั่นในองค์กรให้ได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ"

ถึงเวลาสร้าง CSR ในระดับเซ็กเตอร์
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องที่ 3 การส่งเสริมประสิทธิภาพของการสื่อสาร เพราะ พบว่าการสื่อสารที่ไม่เป็นและการสื่อสารที่มากเกินไปจะย้อนกลับมาทำลายคุณค่าการทำ CSR ในองค์กรและทำให้เกิดการขาดการยอมรับและความน่าเชื่อถือ และเรื่องที่ 4 การส่งเสริมให้ริเริ่มการทำ CSR ในระดับเซ็กเตอร์ (sectorial innitiative) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในอนาคต สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ เซ็กเตอร์ที่สำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบในระดับนี้เป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะเป็นเซ็กเตอร์ที่มีมูลค่าสูง ในการส่งออก ขณะที่ SMEs ก็เป็นเซ็กเตอร์ อัญมณี เครื่องประดับและยาง ฯลฯ ซึ่งต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับ ผู้ผลิตและส่งออกล่วงหน้า ซึ่งเป็นการทำงานในเชิงรุก ที่ช่วยเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรหากไม่ทำในอนาคตมาตรฐานด้านความรับผิดชอบ ต่าง ๆ ก็จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

แนะทางออกองค์กรรับมือมาตรฐาน
เมื่อถูกตั้งคำถามว่า แล้วธุรกิจจะรับมืออย่างไรกับมาตรฐานที่กำลังประเดประดังเข้ามา

ดร.พิพัฒน์ให้ความเห็นว่า "ถ้าดูภาพใหญ่เรามองว่าความเป็นโลกาภิวัตน์ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป รวมถึงซีเอสอาร์ด้วยและทำให้มันไม่นิ่ง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องปกติ เราต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นถ้ารอให้มันนิ่ง นาทีจากนี้ไปไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อองค์กรรู้แล้วว่าถ้าไดนามิกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วองค์กรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร การวางแผนปฏิบัติก็ต้องปรับให้ ไม่ยึดอยู่กับอันใดอันหนึ่งเป็นหลัก"

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำวันนี้คือต้องศึกษาให้รอบ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง โดยเอา สิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาตามฐานขององค์กร เพื่อวันหนึ่งเราเจอมาตรฐาน ทั้งในระดับเซ็กเตอร์และระดับสากล องค์กรก็จะต้องตอบได้ ซึ่งต้องเป็นกลยุทธ์ในระดับองค์กร ขอให้องค์กรมีหลักก็จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ !


[Original Link]