Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล


สถาบันไทยพัฒน์ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 ในรูปของชมรมไทยพัฒน์ และได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพมาเป็นสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ทำงานด้านการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและบรรษัทบริบาล (Corporate Social Responsibility) ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การวิจัย การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา รวมทั้งการร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ในการเผยแพร่องค์ความรู้และเครื่องมือสนับสนุน เพื่อต่อยอดขยายผลการดำเนินงานในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในวงกว้าง

สถาบันไทยพัฒน์ เน้นการดำเนินงานตามแนวทางการร่วมมือกันในลักษณะของ “การเข้ามีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรม” (Contribution by Innovation) โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันไทยพัฒน์ จึงสะท้อนการดำเนินงานในแบบของการทำงานร่วมกัน ทั้งที่เป็นการริเริ่มโครงการและกิจกรรมให้แก่หน่วยงานอื่นได้เข้ามีส่วนร่วม และการเข้ามีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงการส่งมอบประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นสำคัญ

กิจกรรมและโครงการที่สำคัญๆ ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา ในส่วนของงานวิจัย สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำวิจัยให้แก่ OECD ในหัวข้อเรื่อง "Responsible Business Conduct in Thailand" และได้นำเสนอผลการวิจัยในเวทีประชุมภูมิภาคเรื่อง Corporate Responsibility ในหัวข้อ "Why Responsible Business Conduct Matters" เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดย OECD จะเผยแพร่ผลการศึกษานี้ไปยังประเทศสมาชิก 30 ประเทศและประเทศภาคีที่มิใช่สมาชิกอีก 11 ประเทศ

ในส่วนของการฝึกอบรม สถาบันไทยพัฒน์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นปีที่ 2 ในระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม รวมเวลา 4 เดือน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ 6,095 คน (เทียบกับปี 51 ที่มีราว 4,000 คน) และมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 117 แห่ง

นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านทางโครงการ CSR Day เพื่อให้ความรู้เรื่อง CSR แก่พนักงานในสถานประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยตั้งเป้าไว้จำนวน 50 แห่ง ปรากฏว่ามียอดรวมขององค์กรที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 78 แห่ง และมีพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 2,500 คน

ในส่วนของการให้คำปรึกษา สถาบันไทยพัฒน์ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท CSR ให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 4 แห่งและองค์กรธุรกิจจำนวน 3 แห่งเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจและทบทวนการวางตำแหน่ง (Repositioning) และบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบการอย่างมีความรับผิดชอบ และสั่งสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ขององค์กรที่สังคมตระหนักในระยะยาว