Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

From Department to Alignment


[Previous] ... < Platform < Structure > Strategy > ... [Next]


ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรหลายแห่งได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน หน่วยงาน หรือแผนกที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการดำเนินเรื่องของ CSR โดยตรง ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย คือ มีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่รู้ และไม่เข้าใจว่า CSR คืออะไร และเกิดคำถามขึ้นภายในใจว่า ทำไมจะต้องทำ CSR ? ทำ CSR แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?

และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง CSR มาบ้างแต่ก็คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง และเมื่อมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ตนเองจะต้องรับรู้ และเข้าไปมีส่วนร่วม ยิ่งไปกว่านั้น หากหน่วยงานหรือแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่อง CSR นั้น ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ CSR และรับรู้ถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผลสำเร็จในการดำเนิน CSR ขององค์กร และต่อการบรรลุถึงเป้าประสงค์ด้าน CSR โดยรวม

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จาก Department สู่ Alignment จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยแทนที่จะให้เป็นเรื่องเฉพาะของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือ แผนกใดแผนกหนึ่ง CSR ควรจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกระดับ ทุกแผนก ตลอดจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร

องค์กรจะต้องมีการสื่อสารให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับบนไปจนถึงพนักงานระดับล่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการทำ CSR ขององค์กรมากขึ้น เพราะเมื่อพิจารณา CSR ในมิตินี้ในระดับปัจเจก ก็หมายถึง การทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ หรือหากพิจารณาในระดับองค์กร ก็หมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ดังนั้นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่แท้จริง จึงเกี่ยวข้องกับทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร

เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะส่งผลกลับสู่พนักงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการปลูกฝังให้พนักงานมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการช่วยเหลือชุมชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน องค์กรสามารถดำเนินโครงการ CSR ได้ประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กรเองและต่อสังคม มากไปกว่านั้น นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังทำให้เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน


[Previous] ... < Platform < Structure > Strategy > ... [Next]