Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

6 ทิศทาง CSR ลงลึกและกว้างในปีนี้


ดูจะกลายเป็นธรรมเนียมแล้วที่ ทุกต้นปี สถาบันไทยพัฒน์จะเผยแพร่ผลการ ศึกษาพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ในปีนี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ นำเสนอรายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2553 และแนะนำ 7 แนวทางการปรับจุดยืน หรือตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ ด้าน CSR (Repositioning your CSR) ซึ่งมีข้อมูลและผลการศึกษาสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมรองรับ

รายงานดังกล่าวนี้นับว่าได้ช่วยยืนยันให้เห็นว่า เรื่องของ CSR ไม่ใช่กระแสแบบแฟชั่น แต่จะเป็นแนวทางที่จะต้องดำเนินการ มีการนำเสนอคำที่เริ่มกล่าวขานกันจากระดับโลกก็คือ คำว่า New Common ซึ่งจะเป็นแนวปฏิบัติ "ปกติใหม่" หรือเรื่องใหม่ที่ "ต้องทำ" กันจน เป็น "ปกติ"

เป็นการย้ำว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจและบริหารองค์กรที่คำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการมี CSR นั้นเป็นกติกาใหม่ที่ต้องทำกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดั่งเช่นผู้เยี่ยมยุทธ์ที่บรรเลงเพลงดาบด้วยฝีมือขั้นสูงสุดที่มีประสิทธิผล เฉียบขาดอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา จึงมีคำกล่าวยกย่องว่า "สูงสุดคืนสู่ สามัญ"

วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันและในอนาคตนับวันยิ่งต้องตระหนักว่า สภาวะแวดล้อมทางสังคม และธรรมชาติแวดล้อมได้ส่งสัญญาณให้ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสู่ทิศ ทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชนิดที่เป็นกติกาปกติใหม่ (New Common)

เมื่อเปรียบเทียบ 6 ทิศทางด้าน CSR ของปี 2552 และที่มีแนวโน้มเกิดในปี 2553 ก็จะเห็นความต่อเนื่องของแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

เรามาดูกันว่า ทิศทาง CSR ปี 2552 กับปี 2553 มีการพัฒนาต่อยอดอย่างไร

1. เมื่อปีที่แล้ว ดร.พิพัฒน์ ชี้ว่า ธุรกิจจะปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อสังคม จากแนวห่วงใยสิ่งแวดล้อม (ECO-Conscious) มาสู่ความห่วงใยสังคม (Social-Concern)มากขึ้น

เพราะปีก่อนหน้ากระแสโลกร้อน และผลกระทบจากความวิปริตของสภาพภูมิอากาศ กิจกรรม CSR ของหลายองค์กรพากันแสดงออกว่า ห่วงใยสิ่งแวดล้อม มีโครงการแจกถุงผ้า การจัดการขยะและการประหยัดพลังงาน

พอปีที่แล้วเจอผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจนน่าห่วงเรื่องการเลิกจ้างแรงงาน กิจกรรม CSR จึงมีโครงการพัฒนาแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการมีงานทำ นี่ก็เป็นเรื่องเชิงสังคมแบบหนึ่ง

ปีนี้ 2553 ทิศทางของธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นแนวคิดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Green-Concept) จะมีมากขึ้น

2. ปีที่แล้ว การจัดตั้งคณะทำงาน หรือบุคคลผู้รับผิดชอบด้าน CSR เป็นแนวคิดที่แผ่ขยายจากองค์กรธุรกิจเอกชนเข้าสู่รัฐวิสาหกิจและหน่วย งานราชการ

ผลจากการนี้ทำให้องค์กรที่ทันสมัยมีการกำหนดนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อ สังคม มีการจัดทำแผนดำเนินงานที่มีกลยุทธ์ และเป้าหมายเพื่อให้เห็นผลงาน (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และกระทบ (Impact)

ปีนี้ 2553 สังคมจะคาดหวังในบทบาทของรัฐมากขึ้นต่อการกำกับดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่อง CSR

ทั้งนี้ กรณีตัวอย่างที่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงถูกตัวแทนชุมชนฟ้องต่อศาลปกครอง โดยอาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้อุตสาหกรรมที่มี CSR สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

3. ปี 2552 ได้เห็น รูปแบบของ CSR จะพัฒนาจากลักษณะเชิงกลยุทธ์ (Strategies CSR) สู่แนวสร้างสรรค์ (Creative CSR)

แผนเชิงกลยุทธ์นั้นคำนึงถึงปัจจัยความต้องการ หรือสภาพปัญหาของสังคมที่น่าจะเข้าไปมีบทบาทด้วยกิจกรรม CSR แต่เมื่อยกระดับเป็น CSR เชิงสร้างสรรค์ก็มีการคิดนวัตกรรมและรูปแบบการทำงานร่วมกันของเครือข่าย ชุมชนกับองค์กรธุรกิจ

สำหรับปี 2553 สถาบันไทยพัฒน์เชื่อว่า จุดยืนเรื่อง CSR จะปรับสู่ความตระหนักว่าจะเป็นเรื่อง "ปกติใหม่" (New Normal) ที่ "ต้องทำ" สำหรับธุรกิจที่ต้องการรักษาคุณค่า CSR ในระยะยาว

4.ปีที่แล้ว ชี้ทิศทางธุรกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคม (Socially-Friendly Product)มากขึ้น

นอกจากกระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมจะผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกว่าเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมแล้ว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคมก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มใช้กฎหมายว่าด้วยความผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ ไม่ปลอดภัย

ส่วนปี 2553 กำหนดประกาศใช้มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) จะมีผลยืนยันความมี CSR ขององค์กรต่างๆ ชัดเจนขึ้นอีก

7 หัวข้อที่ต้องปฎิบัติดีประพฤติชอบ ได้แก่ การดูแลองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดูแลแรงงาน ปกป้องสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งปฏิบัติดีต่อผู้บริโภคและร่วมพัฒนาชุมชน

5. ปีที่แล้วเห็นว่า CSR ในสายอุปทาน (Supply Chain)จะทวีความเข้มข้นและชัดเจน

ข่าวสารที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นพิษเป็นภัยต่อ ผู้บริโภคกดดันให้มีมาตรการและข้อบังคับเพื่อการตรวจสอบควบคุมมาตรฐาน

แนวโน้มในปีนี้ ประเด็น CSR จะถูกใช้เป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทั้งนี้ เป็นทั้งเหตุผลเชิงอุดมคติที่ต้องการของที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย และใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ดังนั้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งมีมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น ด้านคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้านสิ่งแวดล้อม จะมีบทบาทมากขึ้น

6.ปีที่แล้ว ไทยพัฒน์ชี้ว่า หลักสูตรและวิชาการด้าน CSR จะเข้าสู่ระบบสถาบันการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม

จะเห็นได้ว่า สาขาบริหารธุรกิจหลายมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตร CSR ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในปีนี้ CSR จะแผ่ขยายเข้าสู่ระดับโรงเรียน

ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษาที่มีเป้าหมายไปยัง โรงเรียน 31,821 แห่ง ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (2553-2555) ของรัฐบาล

นี่คือ ข้อมูลยืนยันของการพัฒนาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ขององค์กรในประเทศไทยยุคปัจจุบัน


[Original Link]