ทิศทาง CSR ไทย ปีเสือ
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยเป็นประจำทุกปี ได้ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงถึงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 ซึ่งมีอยู่ 6 ทิศทางสรุปได้ ดังนี้
ทิศทางที่ 1 ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้น GREEN CONCEPT มากขึ้น
ในปีนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งจะให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอน กับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หน่วยงานหลายแห่งจะทำงานร่วมกันในการรณรงค์ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
แนวคิดสีเขียวถูกนำมาใช้ในกระบวนงานต่างๆ อาทิ Green Design, Green Purchasing, Green Logistics, Green Meeting, Green Marketing, Green Services ฯลฯ รวมถึงการนำขยะหรือของเสียจากกระบวนการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูปให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจภายใต้หลักการ Greening Waste มีการปรับตัววัดทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกรอบของ Green GDP ซึ่งจะส่งผลให้ Green Business หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะเติบโตมากในอนาคต
ทิศทางที่ 2 ความคาดหวังในบทบาทของรัฐต่อเรื่อง CSR จะสูงขึ้น หลังจากกรณีการถูกฟ้องให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
ในปีนี้ นอกจากที่รัฐบาลจะต้องกำชับให้หน่วยราชการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการดูแลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ตามทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนให้เกิดความสมดุลทั้งระบบแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและชุมชนที่ก้าวพ้นจากการทำพอเป็นพิธีไปสู่การสนองความคาดหวังของชุมชนได้อย่างแท้จริง
แนวโน้มการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม (กรอ.สังคม) ที่ยกระดับจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในแบบเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรค 2 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ จะถูกกำหนดให้ดำเนินการในรูปแบบของเขตพื้นที่หรือเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco Industrial Estate) เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ทิศทางที่ 3 การปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่จุดปกติใหม่ (New Normal) จะเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว
ประเทศไทยมีปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคมที่รุนแรงขึ้น จากปัจจัยทางการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสื่อมโทรมมากขึ้นจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐ ขณะที่ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบต่างก็ลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทุกช่องทางทั้งการใช้กฎหมายและการกดดันทางสังคม ภาคธุรกิจจึงต้องสำรวจและทบทวนบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับของชุมชนและอยู่ร่วมกันในสังคมบนจุดปกติใหม่นับจากนี้ไป
ทิศทางที่ 4 มาตรฐาน ISO 26000 จะเริ่มลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ยกร่างมาตรฐาน ISO 26000 - Social Responsibility (SR) ให้เป็นมาตรฐานข้อแนะนำ (Guidance Standard) มิใช่มาตรฐานระบบการจัดการเพื่อใช้สำหรับการรับรอง (Certification) หรือนำไปใช้เป็นข้อบังคับหรือใช้เป็นข้อตกลง ด้วยเหตุนี้ การเสนอให้มีการรับรอง หรือกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งมีกำหนดจะประกาศเป็นมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ในปี 2553 นี้ จึงผิดไปจากเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรฐาน
ทิศทางที่ 5 ประเด็นทาง CSR จะถูกหยิบยกเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
ในปีนี้ ภาคธุรกิจจำต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพราะจากนี้ไป มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆ จะหันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ชนิดอื่นๆ ซึ่งอนุญาตให้แก่ประเทศสมาชิก WTO ด้วยวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช และเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีการค้าและก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติทางซีเอสอาร์แทบทั้งสิ้น
ทิศทางที่ 6 การส่งไม้ต่อเรื่อง CSR ในภาคการศึกษา จะขยายลงไปสู่กลุ่มโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้บรรจุวิชาซีเอสอาร์ไว้ในหลักสูตรมหาบัณฑิตในปีที่ผ่านมา
ในปีนี้เราจะได้เห็นโครงงาน CSR ที่ให้นักเรียนศึกษาทำความเข้าใจ CSR บูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันแสดงความเป็นจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 31,821 โรง ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553-2555) ของรัฐบาล เป็นการวางรากฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการเตรียมบุคลากรให้มีจิตสำนึกพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในวันข้างหน้า
หวังว่าองค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางขับเคลื่อน CSR ของหน่วยงาน เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าจากการดำเนินงาน CSR ที่สังคมตระหนักได้อย่างแท้จริงครับ
[Original Link]