Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ฟื้นถิ่น "Kollywood" ลิเกโคราช


ริมถนนมุขมนตรีย่านชุมชนสวายเรียง...มโหรีวงใหญ่บรรเลงเพลงโหมโรงจังหวะสนุกสนานอย่างมีอรรถรส อยู่บนเวทีลิเกขนาดใหญ่อลังการด้วยฉาก แสง สี เสียง กระหึ่มก้องถนนประวัติศาสตร์ที่เคยเฟื่องฟูด้วยคณะลิเกกว่า 200 คณะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

“…ล้นเกล้า เผ่าไทย ศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ ขออภิวาท เบื้องบาทองค์ภูมิพล ยามใดไพร่ฟ้า ชาวประชายากจน ทรงห่วง กังวล ดั่งหยาดฝนชโลมพื้นหล้า…” ชายแต่งกายชุดลิเกยืนร้องเพลง “ล้นเกล้าชาวไทย” ท่วงทำนองเสนาะหูหลังม่านฉากลิเก หมายถึงปฐมบทท้องเรื่อง "กุหลาบซ่อนหนาม" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นบนถนนสาย ’Kollywood’ ในค่ำคืนนี้

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน แม่เสงี่ยมเป็นเจ้าของวิกลิเกคนแรก เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปิดให้ชมการแสดงลิเกของคณะตัวเอง และคณะต่างๆ โดยเฉพาะลิเกคณะ ครูบุญยัง เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ เคยเป็นคณะลิเกที่มีแม่ยกอุ่นหนาฝาคั่ง และไม่นานก็มีคณะลิเกอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีกกว่า 200 คณะ แต่ปัจจุบันความเจริญและปัจจัยต่างๆ ทำให้ความนิยมดูลิเกของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจึงเหลืออยู่เพียง 60 กว่าคณะ และไม่มีวิกลิเกให้เล่นประจำเหมือนสมัยก่อน!

“แม่เสงี่ยมมาเปิดวิกแสดงลิเก คล้ายๆ กับการสร้างโรงภาพยนตร์ที่จะมีหนังเรื่องต่างๆ เข้ามาฉายให้คนดู ต่อมาราวปี 2525 มีการถ่ายทอดเสียงผ่านทางวิทยุด้วย พระเอกนางเอกลิเกสมัยนั้นเหมือนดาราสมัยนี้เลย มีคนมาขอดูตัวมากมาย ทำให้ยุคนั้นมีลิเกเกิดขึ้นเยอะ นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟง่ายต่อการยกคณะไปแสดงยังที่ต่างๆ การแสดงลิเกแสดง 8-9 ชั่วโมงจนถึงสว่าง เพื่อรอกลับรถไฟ” ประศาตร์พร สิงห์เสนีย์ วัย 40 อดีตดาวร้าย ย้อนอดีตที่เฟื่องฟูของลิเกโคราช

ประศาตร์พร ฐานะผู้ประสานงานชักชวนคณะลิเกที่เหลืออยู่บนถนนสายนี้มาร่วมแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ในงาน Kollywood ฟื้นถิ่นศิลป์โคราช เล่าว่า ลิเกโคราชมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มจากแม่เสงี่ยมกับพ่อเต็ก เป็นพระเอกลิเก เดินทางมาจากกรุงเทพฯ หลังจากถูกกระแสนโยบายตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. ไม่ยอมรับการแสดงลิเก พวกเขาจึงมาตั้งรกรากที่นี่โดยเลือกใกล้สถานีรถไฟเพื่อสะดวกต่อการคมนาคมและการออกแสดงตามจังหวัดต่างๆ นั่นเอง

แต่ด้วยความเจริญเมื่อโทรทัศน์เริ่มเข้ามามีบทบาท จึงทำให้ความนิยมในการดูลิเกลดน้อยลงไป ประกอบกับความเสื่อมถอยในรูปแบบของการแสดงที่ยังยึดติดกับรูปแบบเก่าไม่กล้าเปลี่ยนแปลงการแสดงที่ผิดแปลกไปจากเดิมเนื่องจากกลัวเสียฐานแม่ยกไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีของการจัดงานฟื้นตำนานถนนลิเก เนื่องจากครั้งนี้มีลิเก คณะภัทราวดี เธียเตอร์ ของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน มาร่วมแสดงด้วย โดยการแสดงของคณะครูเล็กไม่เน้นฉาก เครื่องแต่งกายอลังการ แถมใช้เวลาน้อย ถือว่าเป็นการเปิดมิติการแสดงลิเกใหม่ๆ ที่อาจเป็นโอกาสให้ลิเกโคราชได้ประยุกต์เพื่อความอยู่รอดต่อไป

“ผมมีความหวังว่าน่าจะเกิดอะไรดีๆ กับชุมชนลิเกบนถนนสายนี้ อาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม สร้างให้เป็นชุมชนลิเกที่เข้มแข็ง ลิเกโคราชก็ดำรงอยู่คู่เมืองโคราชต่อไป” อดีตดาวร้ายลิเกตั้งความหวัง

ภารดี เกียรติภิญโญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสังคมโคราช มองเห็นความสำคัญของศิลปะการแสดงลิเกให้กลับมาเป็นที่นิยมของชาวจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง บอกว่า ชุมชมโรงลิเกแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ จึงชักชวนคนลิเกกว่า 20 คณะมาพูดคุยกัน ให้พวกเขาได้มีโอกาสเล่าความภูมิใจในอาชีพ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปต้องปากกัดตีนถีบกันมากขึ้น ไม่มีความเอื้ออาทรเหมือนเดิม เนื่องจากคนไม่ค่อยนิยมดูลิเก และการจัดงานครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชุมชนลิเกแห่งนี้

สำหรับงาน Kollywood ฟื้นถิ่นศิลป์โคราช 3 วัน 3 คืนที่ผ่านมา นอกจากจะมีการแสดงลิเกคณะต่างๆ ของชุมชนหมุนเวียนสลับเปลี่ยนทุกวันแล้ว ยังมีการแสดงต่างๆ งานหัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน นิทรรศการพื้นที่ประวัติศาสตร์ทิ้งระเบิดของกลุ่มสัมพันธมิตร การแสดงดนตรีเพื่อชีวิต การร้องเพลงโคราช ฯลฯ และยังมีไฮไลท์การผสมผสานระหว่างเพลงโคราชกับเครื่องดนตรีคลาสสิก โดย อ.สมเถา สุจริตกุล วาทยกร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสสิก มาเป็นกุ๊กปรุง "สลัดดนตรี" ให้ชาวโคราชได้ลิ้มรสชาติแปลกใหม่

“ผมคิดว่าทุกอย่างรวมกันได้ หากยอมรับฟังกันและกัน สิ่งที่ได้รับฟังครั้งนี้ เราจะเล่นเหมือนการทำสลัด แยกมะเขือเทศ แยกผัก แยกส่วนประกอบ แต่เวลากินก็อร่อยดี ไม่ใช่การนำมาตำๆ รวมกัน ค่อยๆ ฟังว่าเขาทำอะไรกันอยู่ เพื่อลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมไม่การันตีว่ายิ่งใหญ่ แต่รับประกันว่าสนุกแน่” อ.สมเถา บอกด้วยรอยยิ้ม และพลันที่ดนตรีคลาสสิกเสียงนุ่มนวลบรรเลงผสมผสานเสียงเพลงโคราชจังหวะโจ๊ะๆ สนุกสนาน ก็ได้อรรถรสแปลกใหม่ไปอีกแบบ

อ.สมเถา มองอนาคตของเมืองโคราชว่า อาจกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมระดับโลก อนาคตเมืองมรดกทางวัฒนธรรมระดับโลกอยู่ไม่ไกลแน่ เนื่องจากโคราชยังมีความบริสุทธิ์ มีวัตถุดิบมรดกทางวัฒนธรรมอยู่มาก รอเพียงเอาปุ๋ยมาเสริม ทั้งนี้ การเริ่มต้นจุดประกายปรุง "สลัดดนตรี" ครั้งนี้ อาจถือเป็นการเปิดมิติทางวัฒนธรรมร่วมสมัยสากลแล้วก็ได้


[Original Link]