Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กระตุกต่อมคิด 'ผู้นำ' CSR for Directors

วันเพ็ญ แก้วสกุล

กระแสโลกธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันมีหนึ่งความคิดเกี่ยวกับการ "รักโลก แคร์สังคม" เข้ามาเป็นองค์ประกอบ หลายคนพูดถึง หลายคนรับฟังแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ

ที่กระตือรือร้นและลุกขึ้นร่วมเป็นหนึ่งในกระแสส่วนใหญ่พบเห็นในองค์กรระดับกลางถึงใหญ่ "แม่งาน" ที่เห็นกันเกร่อมีทั้งฝ่ายสื่อสารองค์กร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และพนักงานระดับปฏิบัติการ ขณะที่ "บอสใหญ่" ยังนับจำนวนคนได้ที่จะออกนอกหน้าอาสาลงมาวัดน้ำ สร้างฝาย คลุกฝุ่นทำกิจกรรมในพื้นที่

"ถ้าหากหางส่าย แต่หัวไม่กระดิกแล้ว ทุกอย่างก็ไม่เป็นผล" สำนวนโบราณว่าอย่างนั้น และได้กลายเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่คนในแวดวงคนซีเอสอาร์ต่างขบคิดและร่วมกันหาทางออก

ซีเอสอาร์จะเกิด และสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นจาก "ผู้นำ"

แนวคิดตั้งต้นที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์ สถาบันไทยพัฒน์ 3 ภาคส่วนที่ร่วมกัน "คิด" แล้ว "ต่อยอด" ให้เกิดขึ้นเป็นเครือข่ายในชื่อ CSR Day กิจกรรมที่ทำขึ้นเพื่อเติมเต็มความรู้ด้านซีเอสอาร์กับบรรดาสมาชิกบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจมาแล้วราว 5 พัน คน กับ 120 องค์กรธุรกิจ

มาครั้งนี้ CSR Day ขยายกรอบความคิดและกิจกรรมขึ้นไปอีกขั้นสู่ระดับผู้นำองค์กร

ไดเร็คเตอร์ และกรรมการบริษัท เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับจิ๊กซอว์การต่อยอด ภายใต้แนวคิด "ผู้นำ" ต้องรู้รอบ และเข้าใจซีเอสอาร์ในทุกมิติ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในทีมปฏิบัติการสำหรับโครงการ CSR for Directors บอกว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้บริหารได้เห็นในทุกมุม และทุกขอบเขตที่ซีเอสอาร์ครอบคลุมไปถึง

"หลายคนอาจเข้าใจซีเอสอาร์ แต่ยังไม่ครบทุกด้าน เพราะในความเป็นจริงแล้วซีเอสอาร์เป็นเครื่องที่ครอบจักรวาลทั้ง คน และระบบ"

หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะนี้ ดร.พิพัฒน์ ว่า ทำขึ้นเพื่อผู้บริหารระดับท็อปขององค์กร เพราะเป็นบุคคลที่จะกำหนดกรอบและทิศทางเดินที่สำคัญขององค์กร ดังนั้นการให้ความรู้จึงถ่ายทอดออกมาในแนวทางที่เรียกว่า Triple Streamline (Principles-Policies-Practices) ซึ่งถือเป็น Pathway to Triple Bottom Line (People-Profit-Planet) ที่สำคัญของการนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

รูปแบบกิจกรรมครั้งนี้ดำเนินการภายใน 1-2 ชั่วโมง บรรจุไว้ทั้งหลักการในภาพรวมของซีเอสอาร์ นโยบาย และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับซีเอสอาร์ในระดับมาตรฐานสากล อาทิ UN Global Compact, OECD Guidelines, ISO 26000 และ Global Reporting Initiative (GRI) โดยความรู้ที่พร้อมจะถ่ายทอดครั้งนี้เป็นการดำเนินการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้นำธุรกิจ

ธุรกิจที่สนใจสามารถทำได้ 2 ทางด้วยกัน 1. บรรจุเป็นวาระการประชุม เพื่อให้ทางทีมงานเข้าไปให้ความรู้ และ 2. จัดขึ้นเป็นมาเป็นการอบรมภายในเพื่อให้ทั้งผู้นำองค์กร และบอร์ดเข้ามาร่วมรับฟัง

"เป็นการเข้าไปแนะนำแต่ละองค์กรว่ามีกรอบแนวคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับซีเอสอาร์ ช่วยกันมองหาทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมีอยู่เดิมแล้วช่วยกันกำหนดออกมาเป็นนโยบาย ในที่นี้ หมายความว่า เป็นการมองหา Stakeholder Engagement รวมถึงมองหาบทบาทและจุดยืนที่แต่ละองค์กรเป็นอยู่เกี่ยวกับซีเอสอาร์"

การเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อซีเอสอาร์ ดูจะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะก่อนจะเดินไปในเส้นทางไหนสิ่งสำคัญคือ ต้องเปิดใจ ให้ได้ก่อนจะรับรู้

ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นด้วยในเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่า โลกธุรกิจวันนี้ไม่ได้แข่งขันกันเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ต้องแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งซีเอสอาร์เป็นอีกการขับเคลื่อนที่สำคัญ และการที่แต่ละองค์กรจะเดินหน้าไปได้ ผู้นำต้องมีความเข้าใจ และเรียนรู้

แนวคิดด้านซีเอสอาร์ที่ต้องตั้งต้นจาก "ผู้นำ" องค์กรภายใต้โปรแกรม CSR for Directors ครั้งนี้ ยังมี ดีแทค และบางจาก เป็นแนวร่วมสำคัญ

วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญของ ซีเอสอาร์ ไว้อย่างน่าสนใจ

"การที่แต่ละองค์กรจะเริ่มทำซีเอสอาร์ได้ ต้องเริ่มจากความรู้ ความใจของผู้นำองค์กรให้ได้ก่อน และที่สำคัญคือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้ โดยคอร์สที่พัฒนาขึ้นนี้มองว่า สิ่งที่แต่ละองค์กรจะได้ประโยชน์คือ ให้ธุรกิจเกิดความเข้าใจ และเช็ค (บริษัท) ตัวเองว่าทำอะไรเกี่ยวกับซีเอสอาร์"

ซีเอสอาร์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของตัวเองเท่านั้น วัฒนา ว่า แต่ต้องเป็นการยกระดับความคิดของตัวเองให้สูงขึ้น จากที่คิดแค่ทำให้องค์กรตัวเองกำไร ก็ให้คิดต่อว่า ต้องให้กำไรนี้คืนกลับสังคมด้วย

ประสบการณ์กว่า 20 ปีของบางจาก วัฒนา ย้ำว่า ซีเอสอาร์จะเกิดขึ้นต้องทำอย่างเป็นระบบ และ ที่สำคัญคือ ต้องพัฒนาเป็นวัฒนธรรมขององค์กรให้ได้

"บางจาก เราเริ่มจากกำหนดเป็นวัฒนธรรมองค์กร เราเขียนไว้ว่าจะพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับสังคม ไม่ maximize profit แต่เราจะพูดเรื่อง Fairness กำไรที่เกิดขึ้นต้องเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ถือหุ้น"

ทุกสิ่งต้องค่อยๆ สร้างเพื่อให้ "ปลายทาง" ที่ได้เกิดเป็นวัฒนธรรมซีเอสอาร์อย่างที่หวัง วัฒนา เผยว่า บางจากเราใช้วิธีการตั้งชมรมค่อนข้างหลากหลายแต่ทุกชมรมอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด "กาย-ใจ-คิดสร้างสรรค์"

ดีแทค เป็นอีกองค์กรที่เป็นแนวร่วมสำคัญของโปรแกรม CSR for Directors และเป็นอีกธุรกิจที่ประกาศชัดว่า ซีเอสอาร์ เป็นหัวใจขององค์กรนี้

"1 มิถุนายน เป็นวันดีเดย์ที่หน่วยงานด้านซีเอสอาร์ ปรับเปลี่ยนเป็น CR Division ที่จะมีขอบเขตงานที่กว้างขึ้นและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของบริษัทเทเลนอร์ จากยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับ CR อย่างมาก" พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) - ดีแทค กล่าว

พีระพงษ์ ย้ำว่า การจะทำให้ซีเอสอาร์เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้นั้น สิ่งสำคัญคือการวางแนวทางให้ในทุกๆ วันของการทำงานเป็นวันซีเอสอาร์ อย่างกรณีที่ดีแทค ทำโครงการทำดีทุกวัน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งพนักงาน และชุมชนที่เราไปเข้าร่วม

ที่สุดแล้ว เมล็ดพันธุ์ (ซีเอสอาร์) จะงอกเงยและงดงามเพียงไรก็ขึ้นอยู่ที่ระดับท็อป


[Original Link]