Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เที่ยงธรรม ทั่วถึง ทดแทน ยุทธศาสตร์ซีเอสอาร์ กฟภ.


ก่อนงานในตำแหน่งรองผู้ว่าการสายงานกิจการสังคมและ สิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คนแรกในประวัติศาสตร์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2553 "ภัสสร เวียงเกตุ" รองผู้ว่าการ คนแรกของสายงานนี้ ได้พูดคุยถึงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานซีเอสอาร์ขององค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ พร้อมฝากฝังถึงผู้บริหารคนต่อไปให้ช่วยกันรณรงค์การใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการเกิดภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทของ กฟภ. ก่อนก้าวสู่ปีที่ 51

เริ่มต้นงานซีเอสอาร์ กฟภ.
ถ้าพูดถึงการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการการผลิตหรือ CSR in process แล้ว นับว่า กฟภ.ก็ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2503 ส่วนการคืนกำไรให้สังคมหรือ CSR after process ก็ทำกันมานานมากกว่า 30 ปีนับตั้งแต่วันที่ กฟภ.มีกำไรที่มั่นคง ซึ่งหมายถึงวันที่ กฟภ.มีกำไรในระดับ 100-200 ล้านบาทขึ้นไปก็ได้เริ่มทำกิจกรรมคืนกำไรให้สังคมอย่างจริงจังมากขึ้น

ขณะที่ตำแหน่งรองผู้ว่าการ สายงานกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่งมีการแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อต้นปี 2553 เพื่อให้มีผู้บริหารและสายงานที่รับผิดชอบงานด้านซีเอสอาร์โดยตรง เหมือนกับที่รัฐวิสาหกิจรายอื่น ๆ มีกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยให้ผู้บริหารในระดับรองผู้ว่าการ หรือผู้ช่วยผู้ว่าการเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบงานส่วนนี้

ด้านกิจกรรมเพื่อสังคม กฟภ.ทำมาหลายสิบปี แต่ในอดีตนั้น เป็นการดำเนินการโดยแต่ละเขตทำโครงการของตัวเองแยกย่อยกันไป แต่วันนี้ กฟภ.ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบทำแผนปฏิบัติการด้านซีเอสอาร์ให้ชัดเจน

และนับตั้งแต่ปี 2552 กฟภ.ได้จัดทำแผนแม่บทด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระยะที่ 1 (2552-2554) และให้หน่วยงานด้านยุทธศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ จนกระทั่งต้น ปี 2553 จึงได้มีการแต่งตั้งรองผู้ว่าการสายงานกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก กฟภ.เห็นความสำคัญของงานด้านนี้และต้องหาผู้บริหารมาดูแลรับผิดชอบโดยตรง พร้อมจ้างที่ปรึกษาจากสถาบันไทยพัฒน์ มาทบทวนปรับแผนแม่บทใหม่ ซึ่งจะใช้ในระหว่างปี 2554-2557 ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ กฟภ. ที่มีการทบทวนทุกระยะ

ยุทธศาสตร์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตามแผนแม่บทด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระยะแรก (2552-2554) ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งทำแผนแม่บทด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น กฟภ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กล่าวคือ "ไฟฟ้าเที่ยงธรรม" เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายในองค์กร เน้นพนักงานขององค์กรเป็นหลัก โดยจัดให้มีการพัฒนาระบบบริหารพัฒนาองค์กรให้โปร่งใส เป็นธรรม สร้างเสริม คุณธรรมและจริยธรรรมให้พนักงาน พร้อมกับมีการให้คะแนนประเมินผลงานพนักงานโดยตลอด เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน และมีผลต่อเงินเดือนและโบนัส รวมทั้งต้องปลูกจิตสำนึกด้านการบริการที่ดีควบคู่กันไป

ต่อมาคือ "ไฟฟ้าทั่วถึง" เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกองค์กร เน้นขยายเขตการให้บริการไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้ไฟฟ้าประหยัด ถูกต้อง ปลอดภัย และปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ไม่ให้มีไฟตก-ไฟดับ

และ "ไฟฟ้าทดแทน" การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืนขององค์กร คือการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนมาแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และจัดการไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงสร้างการทำงาน
การทำงานด้านซีเอสอาร์ของ กฟภ. มีโครงสร้างการทำงานภายใต้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือคณะกรรมการ CG และ CSR ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (บอร์ด กฟภ.) ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ เป็นประธานกรรมการ และรองกรรมการประกอบด้วย พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และ รศ.ประภาษ ไพรสุวรรณา ซึ่งทั้ง 3 ท่านจะดูแลกำกับนโยบาย CG และ CSR

ขณะเดียวกัน กฟภ.ยังมีคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีรองผู้ว่าการ (กิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม) เป็นประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งหมดเป็นกรรมการ เพื่อดูแลจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการในแต่ละปี เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ CG และ CSR และเสนอบอร์ด กฟภ.อีกชั้นหนึ่ง

เป้าหมายซีเอสอาร์ระยะที่ 2
ทั้งนี้ ในปีหน้า กฟภ.จะมีแผนแม่บทกิจการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2 (2554-2557) ออกมาใช้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ใน 12 เขตที่มีอยู่ โดยให้มีผู้จัดการอาวุโส ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานซีเอสอาร์ในแต่ละเขต และประสานกับสำนักงานใหญ่ มีการติดตาม รายงานผลตรงถึงคณะกรรมการ CG และ CSR และรายงานบอร์ด กฟภ.ในทุก ๆ ไตรมาส

นอกจากนี้ กฟภ.ยังต้องปฏิบัติตามข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลดภาวะโลกร้อนทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กร โดยอาจมีรูปธรรม เช่น การปลูกต้นไม้ การประหยัดการใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น


[Original Link]