สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล
สถาบันไทยพัฒน์ เป็นผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholder) ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) และเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ทำงานด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ด้วยการวิจัย การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาด้านบรรษัทบริบาล (CSR) ให้แก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน สถาบันไทยพัฒน์ ได้ให้คำปรึกษาเรื่อง "การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน" (Sustainability Report) แก่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่มีความประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ โดยให้ความสำคัญกับสารัตถภาพ (Materiality) ของการรายงาน มิให้เป็นเพียงหนังสือรายงานข้อมูลประจำปี (Yearbook) ที่เป็นการรวบรวมความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรอบปี รวมทั้งการเน้นสร้างคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ในตอนท้ายปี
สำหรับหน่วยงานที่มีความประสงค์จะนำมาตรฐาน ISO 26000: 2010 ไปปฏิบัติใช้ในองค์กร สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนา PRODUCE Module สำหรับสนับสนุน "การวางระบบ ISO 26000 ทั่วทั้งองค์กร" โดยใช้วัฏจักร PDCA (Prepare-Deploy-Consult-Assess) ในการให้คำปรึกษาและประเมินผลโดยทีมที่ปรึกษาของสถาบันไทยพัฒน์ คู่ขนานไปกับวัฏจักร PDCA (Plan-Do-Check-Act) ในการปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO 26000 โดยบุคลากรขององค์กร
นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้พัฒนาโครงการศึกษาและจัดทำ "แผนแม่บท CSR" (CSR Master Plan) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวด้านบรรษัทบริบาลของหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจ ที่จำต้องมีองค์ประกอบของ CSR ภายในองค์กร และเพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ขององค์กรได้มีกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการสร้างการรับรู้ในกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชนอย่างเป็นเอกภาพ
สำหรับองค์กรที่เพิ่งขับเคลื่อนงาน CSR และไม่แน่ใจว่าสิ่งที่องค์กรดำเนินอยู่นั้น เหมาะสม และให้ผลลัพธ์จริงหรือไม่ สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยและให้คำปรึกษา "การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์" (Strategic CSR Development) ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถตอบคำถามหลักสองประการ ประการแรก คือ มีกิจกรรมใดบ้างที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่แล้วนั้นเป็นกิจกรรม CSR และกิจกรรมที่ว่านั้นจัดเป็น CSR ประเภทใด ประการที่สอง คือ จะมีเครื่องมือหรือวิธีในการวัดผลการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีอยู่ได้อย่างไร และจะปรับปรุงให้เสริมกับธุรกิจได้อย่างไร