Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

พลิกคู่มือรายงานความยั่งยืน


ในงานแถลงทิศทางและแนวโน้ม CSR ประจำปี ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ จัดขึ้นเป็นประจำติดต่อกันมาหลายปีนั้น ในปีนี้ได้มีการจัดทำและเผยแพร่คู่มือการจัดทำรายงานเพื่อความยั่งยืนเล่มเล็ก ๆ เหมาะกับการพกพาแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงาน โดยคู่มือที่สถาบันไทยพัฒน์เรียบเรียงขึ้นนี้จะเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับองค์กรเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ด้วยวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำเพื่อชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ซึ่งได้มาจากการกำหนดให้การจัดทำรายงานเป็นกระบวนการ (process) มากกว่าเป็นโครงการ (project) และมิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่มุ่งหวังแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้าย

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนมีกรอบการจัดทำรายงานใน 3 กลุ่มหลักที่เป็นที่นิยม ได้แก่ แนวทางของ GRI, แนวปฏิบัติขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO และของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม"

แต่แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI ดูเหมือนจะได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในแวดวงธุรกิจไทย

ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักของกรอบการจัดทำรายงานความยั่งยืนของ GRI แบ่งออกเป็น "วิธีการรายงาน" ซึ่งประกอบด้วยหลักการที่ใช้ในการจัดทำข้อมูลเชิงเนื้อหา คุณภาพและขอบเขต กับ "สิ่งที่จะรายงาน"

โดยกรอบการทำรายงานและตัวชี้วัดต่าง ๆ ต้องครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละด้านมีตัวชี้วัดย่อยลงไปอีก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ 7 ตัวชี้วัด ด้านสังคม 25 ตัวชี้วัด และด้านสิ่งแวดล้อม 17 ตัวชี้วัด รวมทั้งหมด 49 ตัวชี้วัด

นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดเพิ่มเติม ด้านเศรษฐกิจ 2 ตัวชี้วัด ด้านสังคม 15 ตัวชี้วัด และด้านสิ่งแวดล้อม 13 ตัวชี้วัด รวม 30 ตัวชี้วัด

ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ยืนยันว่า ในระยะเริ่มต้นธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้ง 49 ตัวชี้วัด แต่ต้องหาให้พบว่างานที่บริษัททำอยู่นั้นเข้ากับตัวชี้วัดให้ได้ครบทั้ง 3 ด้าน ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมกันให้ได้อย่างน้อย 10 ตัวชี้วัด ก็เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นแล้ว

พร้อมย้ำว่า "การจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI นั้น เป็นเพียง 1 ใน 4 ส่วนของกระบวนการจัดทำรายงานทั้งหมด"

ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI มีด้วยกัน 5 ระยะ ประกอบด้วย การเตรียมการ (prepare) ต่อมาคือการพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกองค์กร (connect) แล้วไปสู่ขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและเนื้อหารายงาน (define) หลังจากนั้นก็ต้องมีการติดตามการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำรายงานตามตัวชี้วัด (monitor) และนำข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเป็นรายงาน (report)

โดย ดร.พิพัฒน์ได้สรุปความให้เข้าใจง่าย ๆ จากกระบวนการ 5 ระยะ ดังกล่าวว่า คือการรู้เขา-รู้เรา-รู้รอบ-รู้จดรู้บันทึก-รู้รายงาน

พร้อมกับแนะนำเกณฑ์การคัดเลือกตัวบ่งชี้ในกระบวนการทดสอบสารัตถภาพของการรายงานด้วยคำถาม 8 ข้อ โดยในที่นี้จะยกมาเป็นตัวอย่างเพียง 3 คำถาม ได้แก่

1) ตัวบ่งชี้นี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่

2) ตัวบ่งชี้เป็นสิ่งท้าทายหรือสามารถสร้างให้เกิดอุปสรรคทางธุรกิจในวันข้างหน้าได้หรือไม่ และสิ่งนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในวงธุรกิจแล้วหรือไม่

และ 3) ตัวบ่งชี้นี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อองค์กร/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่

ส่วนผู้สนใจคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งมุ่งหวังเรียบเรียงคู่มือการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนให้เข้าใจง่ายและใช้ได้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี


[Original Link]