Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เดินหน้า CSR Report จับตาบริษัทในตลาดหุ้น


น่ายินดีที่มีการแถลงแนวโน้ม หรือ “ทิศทาง” ของพัฒนาการด้าน CSR ในประเทศไทย เป็นงานประจำทุกต้นปี ที่จัดโดย สถาบันไทยพัฒน์ (หน่วยงานในสังกัด มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ร่วมกับ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ในสังกัดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แสดงว่ากระแสความตระหนักและดำเนินการเพื่อแสดงจุดยืน หรือบอกต่อสังคม ว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจการ หรือทำกิจกรรมด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งหมายรวมถึง “สิ่งแวดล้อม” มีปรากฏการณ์ที่จับความได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องที่ “ต้องจริงจัง” เพราะเห็นได้ชัดว่าเกิดระเบียบมาตรฐานในลักษณะกติกาโลกที่นับวันจะมีเครื่องมือเพื่อคัดกรองในการจะเลือกคบ เลือกค้ากับกิจการที่ เก่ง และ ดี เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากลและผู้ซื้อผู้บริโภคในระดับประเทศ

นี่จึงเป็นกระแสที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับความคิด ปรับกระบวนการผลิตและบริหารจัดการเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้เกี่ยวข้อง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ของกิจการที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ CSR หรือกิจกรรมส่งเสริมสังคมไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนเดิม

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ แถลงผลการศึกษาไว้ 6 ประการนั้น ประเด็นที่กล่าวถึง “การจัดทำรายงาน CSR” นับว่าสำคัญที่สุด

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทุกวันนี้กิจการส่วนใหญ่โดยเฉพาะองค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการจัดทำหนังสือรายงานประจำปี ซึ่งมุ่งรายงานผลประกอบการทางธุรกิจและสถานะทางการเงิน ขณะเดียวกันก็เริ่มมีหลายองค์กรที่จัดทำหนังสือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม

เพียงแต่ว่า การจัดทำรายงาน CSR ของหลายองค์กรยังเป็นเพียงหนังสือรวบรวมความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรอบปี โดยประมวลข้อมูลจากโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ

เป็นการเน้นการรายงานเชิงผลงาน (output) แต่ละโครงการ แต่มิได้มุ่งรายงานผลลัพธ์ (outcome) หรือผลกระทบ (impact) ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

การจัดทำรายงาน CSR นั้น ความจริงมิใช่เรื่องใหม่สำหรับคนทำงานด้าน CSR เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบงาน CSR ขององค์กรก็ต้องทำรายงานผลสำเร็จของการดำเนินงาน CSR ในรอบปีเสนอต่อผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการเป็นการภายใน ผู้ที่จะเห็นรายงานดังกล่าวจึงอาจจำกัดอยู่แค่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร (ผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ กับผู้บริหารและพนักงาน) เท่านั้น

แต่การจัดทำรายงาน CSR สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกก็จำเป็น เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร ทำให้สังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ โดยกิจการสามารถดำเนินงานต่อไปโดยไม่ถูกต่อต้าน หรือเป็นเหตุทำให้ธุรกิจต้องชะงักงัน

การรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ นับจากนี้จะทวีความสำคัญและมีความพยายามเรียนรู้เพื่อพัฒนามากขึ้นและอาจเรียกว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability report) หรือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development หรือ SD report) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการมี CSR ที่เกิดกับกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดร.พิพัฒน์ ชี้ให้เห็นคุณค่าของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อองค์กรกำหนดให้การจัดทำรายงานเป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าเป็นโครงการ (Project) ที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารที่เป็นรายงาน

กล่าวนัยหนึ่ง องค์กรต้องสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ในตอนท้ายปีเท่านั้น

องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการจะเป็นทั้งกรอบแนวทางของภารกิจ CSR ขององค์กร และการรายงานผลสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) คือคำนึงถึงผลที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและความครอบคลุมของภารกิจ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิภาพในกิจกรรม CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) หรือความยั่งยืนของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน พันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่าในปีนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะร่วมกันพัฒนาหลักการและแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลในรายงาน CSR ที่สอดคล้องกับกรอบการรายงานตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในการชี้แจงข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนและการสื่อสารกับสังคม

“วันนี้ผลประกอบการของบริษัทฯ จะต้องถูกนำเสนอในมิติที่มีผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำรายงานดังกล่าวมิได้เป็นข้อกำหนดบังคับ แต่เป็นช่องทางในการเพิ่มคุณค่าองค์กรโดยสมัครใจที่ได้รับการยอมรับในสายตาของผู้ลงทุนและสังคม”

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลไกการบริหารในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งยกระดับการทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Report ของบริษัทจดทะเบียน เพราะเป็นบริษัทมหาชนที่มีความพร้อมด้านทุนและระบบการบริหารที่ผ่านการคัดกรองก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม

แม้จะเริ่มด้วยการให้แนวทางปฏิบัติแบบ “สมัครใจ” แต่ในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคปัจจุบัน องค์กรที่มีรายงาน CSR ที่สะท้อนจุดยืนที่ดีและเปิดเผยผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โปร่งใส นี่คือ การเพิ่มคุณค่าองค์กรที่นักลงทุนและสังคมจะเชื่อถือชื่นชม


[Original Link]