วัดผลสำเร็จ CSR จริงใจหรือไก่กา
เรื่องการจัดทำรายงาน CSR นั้น มิใช่เรื่องใหม่สำหรับคนทำงานด้าน CSR เนื่องจากในการดำเนินงาน CSR ขององค์กรในแต่ละปี ผู้ที่รับผิดชอบงาน CSR ขององค์กร ต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน CSR ในรอบปี เสนอต่อผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเป็นการภายใน ผู้ที่จะเห็นรายงานฉบับดังกล่าว จึงอาจจำกัดอยู่แค่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร (ผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ กับผู้บริหารและพนักงาน) เท่านั้น
เหตุผลหลักของการจัดทำรายงาน CSR ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึง “ผลสำเร็จ” ที่องค์กรได้ใช้ทรัพยากรต่างๆ (ซึ่งย่อมมีต้นทุน ค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาส) ในการดำเนินงาน CSR ต่อผู้บริหารและเจ้าของกิจการ สำหรับการรับรองหรือการยอมรับ (Recognition) ที่จะจัดสรรทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน CSR ในปีต่อไป
ในทำนองเดียวกัน การจัดทำรายงาน CSR สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ก็มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร ทำให้สังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อนุญาตให้กิจการสามารถดำเนินงาน (License to Operate) ต่อไปโดยไม่มีคำคัดค้านหรือข้อโต้แย้งที่เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องชะงักงันหรือสะดุดหยุดลง
การที่ธุรกิจจะได้รับการรับรองหรือการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกนั้น อยู่ที่การตีความหมายของ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร
บางองค์กรใช้การวัดผลสำเร็จด้วยสัมฤทธิ์ภาพ (Achievement) ของการจัดสรรทรัพยากร (Input) ในโครงการหรือกิจกรรม CSR เช่น เราได้ลงทุนในระบบบำบัดเป็นมูลค่าถึง 500 ล้านบาท หรือบางองค์กรวัดด้วยกระบวนการ (Process) มีส่วนร่วมในกิจกรรม CSR เช่น จำนวนของคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือบางองค์กรวัดจากผลผลิต (Output) ของกิจกรรม เช่น ผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นอาสาสมัครตรวจวัดคุณภาพน้ำครบ 100% หรือบางองค์กรก็วัดจากผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ เช่น คุณภาพน้ำในชุมชนรอบโรงงานอยู่ในระดับดี และท้ายที่สุด บางองค์กรเลือกใช้วิธีการวัดผลกระทบ (Impact) ที่คนในชุมชนและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขจากการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ได้จัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลการดำเนินงานของกิจการ ที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) โดยได้นิยามหลักการและตัวชี้วัดที่องค์กรสามารถใช้วัดและรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดหลัก (Core indicators) จำนวน 49 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดเพิ่มเติม (Additional indicators) จำนวน 30 ตัวชี้วัด สำหรับใช้เพื่อการกำหนดเนื้อหาและกำกับข้อมูลที่กิจการจะนำมารายงาน
ทั้งนี้ องค์กรสามารถที่จะพิจารณาใช้กรอบการรายงาน GRI โดยเริ่มจาก 10 ตัวชี้วัดหลัก (Level C) แล้วจึงค่อยขยายขอบเขตการรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 20 ตัวชี้วัดหลัก (Level B) จนสามารถรายงานได้ครบทุกตัวชี้วัดหลัก (Level A) ในที่สุด
กระบวนการจัดทำรายงาน CSR ตามแนวทาง GRI นี้ จะเป็นเครื่องมือให้องค์กรสามารถใช้บริหารและวัดผลกระทบ (Manage and Measure Impacts) จากการดำเนินภารกิจ CSR ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำเอกสาร "รายงานเพื่อความยั่งยืน : Reporting your CSR" เพื่อเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับองค์กรในการทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือกำกับการขับเคลื่อนภารกิจ CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ หรือดาวน์โหลดเอกสารฉบับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.thaicsr.com
[Original Link]