Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ก่อนจะมีหน่วยงาน CSR


คำถามหนึ่งที่ผมได้รับการถามอยู่เป็นประจำ คือ ในองค์กรควรจะมีการตั้งหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบเรื่อง CSR ขึ้นมาโดยตรงหรือไม่ เนื่องด้วยความไม่แน่ใจว่า หากตั้งขึ้นมาแล้ว จะดีกว่าที่ไม่มีหรือไม่ หรือจะทำให้กลายเป็นภาระส่วนเพิ่มขององค์กรต่อไปหรือไม่

ในหลายกิจกรรมที่เป็นงานในกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-in-process องค์กรสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางสายงานที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงสร้างหรือผังองค์กรที่เป็นปัจจุบันโดยปราศจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายคือ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมอย่างครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น

ขณะที่ในบางกิจกรรม ซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-after-process องค์กรอาจต้องตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ อาจต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรืออาจต้องมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว องค์กรควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกิจกรรม

การที่บางกิจการได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน CSR ขึ้นในองค์กร ถือเป็นการยกระดับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการให้มีเจ้าภาพรองรับที่ชัดเจนมากกว่าการตั้งเป็นคณะทำงาน อย่างไรก็ดี หน่วยงาน CSR ที่ตั้งขึ้นมานี้ ผู้รับผิดชอบต้องเข้าใจบทบาทและสามารถสื่อสารให้แก่พนักงานในองค์กรเพื่อมิให้พนักงานเกิดความเข้าใจว่า นับจากนี้ “CSR เป็นเรื่องของฝ่าย CSR มิใช่เรื่องของฉันอีกต่อไป” มิฉะนั้นแล้ว การขับเคลื่อนเรื่อง CSR จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากพนักงานอย่างเต็มที่

การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กร จำเป็นต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกสายงาน และต้องมีการดำเนินงานที่สอดประสานกัน (Act in Concert) ทั่วทั้งองค์กร เนื่องจาก “CSR เป็นเรื่องของทุกคน มิใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยเฉพาะ CSR-in-process ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของแต่ละสายงาน ก็ยังเป็นเรื่องที่แต่ละสายงานต้องรับผิดชอบและตรวจตราการดำเนินงาน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบในเชิงลบสู่สังคมผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน ฯลฯ) รวมถึงสิ่งแวดล้อมตลอดจนกิจกรรม CSR-after-process ที่มีเป้าประสงค์ในการส่งมอบ ผลกระทบในเชิงบวก ทั้งในมิติของการแก้ไขฟื้นฟู เยียวยา บรรเทาปัญหาและในมิติของการอนุรักษ์ ดูแล พัฒนา ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของหน่วยงาน CSR จึงมีหน้าที่ในการผสานความร่วมมือและอำนวยการให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในแต่ละสายงานเป็นไปโดยราบรื่น การติดตามความคืบหน้าให้เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการริเริ่มดำเนินงานหรือกิจกรรม CSR ที่ยังไม่มีเจ้าภาพแต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ข้อพิจารณาในการจัดให้มีหน่วยงาน CSR ในแต่ละองค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมขององค์กรในการบริหารการขับเคลื่อนงาน CSR ที่มีอยู่ และระดับของพัฒนาการหรือวุฒิภาวะทาง CSR ซึ่งภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Maturity ในด้าน CSR ขององค์กรนั่นเอง


[Original Link]