Colourful Ocean ในประโยคบอกเล่า
สัปดาห์ที่แล้ว ได้พูดถึงความแตกต่างระหว่าง Strategy กับ Activity ผ่านประโยคบอกเล่า ที่สรุปว่ากลยุทธ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย เปรียบเหมือนคำกริยาหลัก ขณะที่การปฏิบัติงานหรือการดำเนินงานประจำวัน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้ เปรียบเหมือนคำกริยานุเคราะห์ ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาหลัก
บทความตอนนี้ จะพูดถึงกลยุทธ์ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน ก็คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสีทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็สามารถเปรียบได้กับกริยากลุ่ม non-finite verb ในประโยคบอกเล่า
Non-finite verb เป็นกริยาที่ไม่ถูกจำกัดโดยประธานในประโยคหรือจำกัดด้วยกาลเวลา ซึ่งตรงข้ามกับ finite verb ซึ่งเป็นกริยาที่แสดงถึงกาลเวลา หรือกริยาที่ถูกกำหนดโดยส่วนประธาน และหากประโยคใดขาด finite verb จะทำให้ความหมายของประโยคไม่สมบูรณ์
เมื่อเปรียบกับกลยุทธ์น่านน้ำหลากสี หมายความว่า องค์กรหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ประเภท red ocean, blue ocean, green ocean ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ แต่การเพิ่มเติมกลยุทธ์เหล่านี้ในธุรกิจ ก็เปรียบเสมือนการปรับแต่งประโยคให้มีการเน้นความสำคัญหรือขยายความในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (หรือหลายเรื่อง) ที่อยู่ในความสนใจ หรือคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อกิจการนั่นเอง
กลยุทธ์น่านน้ำเหล่านี้มีทั้งความเหมือนและต่างกันในบริบทที่ตัวมันเองเป็นกลยุทธ์ประเภทหนึ่งในทางธุรกิจ ความเหมือนกัน ก็คือ ทั้งสามกลยุทธ์มุ่งให้ความสำคัญที่คุณค่า (value) ในการประกอบการ เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร
การนิยามความสำเร็จเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางกลยุทธ์ บางกิจการ ความสำเร็จ คือการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในสนามการแข่งขัน บางกิจการวัดความสำเร็จจากการพัฒนาธุรกิจให้ล้ำหน้าการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้คู่แข่งหมดความหมาย ขณะที่กิจการอีกส่วนหนึ่งประเมินจากที่องค์กรมีความยั่งยืนด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและแข่งขันกับตนเองเป็นหลัก
Red ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งพัฒนาและส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่า (Beating Value) คู่แข่งขัน
Blue ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน
Green ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) ด้วยการแข่งขันกับตนเอง
Red Ocean | Blue Ocean | Green Ocean |
Competition-based Strategy | Innovation-based Strategy | Sustainability-based Strategy |
Beating Value | Innovating Value | Sustaining Value |
ในกลยุทธ์การแข่งขันแบบน่านน้ำสีแดง องค์กรต้องเลือกระหว่างกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน เพราะพื้นที่ตลาดเดิมได้ถูกกำหนดไว้อย่างแจ้งชัด แต่สำหรับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ได้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน
ส่วนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนแบบน่านน้ำสีเขียว องค์กรจะต้องทบทวนกิจกรรมในสายคุณค่าทั้งหมด เพื่อปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในทุกๆ กิจกรรม มิใช่การดำเนินเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกกระบวนการหรือแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจ การพัฒนากลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว จึงคำนึงถึงคุณค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ถูกสร้างขึ้นในสายคุณค่า ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
[Original Link]