การก่อตัวของ ASEAN CSR Network ภาคเอกชน
เครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน (ASEAN CSR Network) ประกาศเปิดตัวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาโอกาสในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยน เป็นที่พบปะพูดจาหารือประเด็นและข้อห่วงใยในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับหลักการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นบรรทัดฐานสากล ตลอดจนการเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายแก่มวลสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค
สมาชิกผู้ก่อตั้ง ASEAN CSR Network ประกอบด้วยมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) และองค์กรจากชาติสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ชุมนุมธุรกิจอินโดนีเซีย (Indonesia Business Links) หอการค้าระหว่างประเทศมาเลเซีย (International Chamber of Commerce-Malaysia) สันนิบาตมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนฟิลิปปินส์ (League of Corporate Foundations, Philippines) เครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนไทย (CSR Club of Thai Listed Companies Association) และกลุ่มความตกลงว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภาคเอกชนสิงคโปร์ (Singapore Compact for CSR)
ASEAN CSR Network ได้มีการยกร่างข้อความนโยบายที่จะใช้เป็นตัวแบบสำหรับการอ้างอิงในกลุ่มสมาชิก โดยบรรดาประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ASEAN CSR Network ต่างเห็นพ้องเรื่องการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในวิถีการดำเนินงาน ด้วยพันธกรณีของภาคเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ธุรกิจถูกคาดหวังให้ปรับแนววิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สนองตอบต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมกันกับการผนวกหลักการดังกล่าวเข้าไว้ในการปฏิบัติงานประจำวัน
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจควรเข้ามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งประกอบด้วย 8 เป้าหมายใหญ่ 18 เป้าหมายย่อย และ 48 ตัวชี้วัด ภายใต้กรอบเวลาที่จะสิ้นสุดภายในปี 2558
โดยเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ประกอบด้วย
1. ขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหยที่ร้ายแรง
2. จัดให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและให้หญิงมีสิทธิมีเสียงในสังคมมากขึ้น
4. ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก
5. ปรับปรุงสุขอนามัยของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
6. ยับยั้งเอชไอวี/เอดส์ ไข้มาลาเรีย และโรคอื่นๆ
7. ประกันความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
8. พัฒนาความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาทั่วโลก
สำหรับองค์กรในภาคีสมาชิกของ ASEAN CSR Network สามารถใช้เกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบได้จากมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับสถานประกอบกิจการข้ามชาติและนโยบายทางสังคมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN) แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) และกรอบการรายงานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) เพื่อนำไปสู่การบรรลุ MDGs ข้างต้น
ล่าสุด เครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชนได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ASEAN CSR Network Ltd. ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อรองรับการทำงานของเครือข่าย โดยมี Mr. Mohd. Shah bin Hashim (ผู้แทนหอการค้าระหว่างประเทศมาเลเซีย) Dr. Filemon A. Uriarte, Jr. (ผู้แทนมูลนิธิอาเซียน) Mr. Frederick Ho (ผู้แทนกลุ่มความตกลงว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภาคเอกชนสิงคโปร์) Ms. Yanti Koestoer Triwadiantini (ผู้แทนชุมนุมธุรกิจอินโดนีเซีย) นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ (ผู้แทนเครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนไทย) และ Mr. Edgardo Amistad (ผู้แทนสันนิบาตมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนฟิลิปปินส์) เป็นกรรมการบริษัท