รัฐเริ่มแล้ว ASEAN CSR Roadmap
อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2546 โดยได้มีการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 (Bali Concord II) ที่เห็นชอบให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันภายในปี 2563
ครั้นเมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 ที่ประชุมผู้นำอาเซียนได้ตกลงร่นระยะเวลาการจัดตั้งประชาคมอาเซียนจากกำหนดเดิมในปี 2563 เป็นให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ซึ่งประกอบด้วยประชาคมในสามเสาหลัก
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการให้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน
ในการมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) โดยจัดประชุมเพื่อยกร่างแผนงาน 4 ครั้ง (ไทยเป็นเจ้าภาพจัดครั้งที่ 1 และ 3 ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม และระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม)
โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ให้การรับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนา
ภายใต้ความร่วมมือด้านสิทธิและความยุติธรรมทางสังคมในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มาตรการหนึ่งที่ระบุให้มีการดำเนินงานคือการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Promoting CSR) ซึ่งรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานปฏิบัติร่วมกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจ (กระทรวงการคลัง/กระทรวงพาณิชย์) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการทำงานประสานกับ AMMSWD (ASEAN Ministerial Meeting for Social Welfare and Development) ซึ่งเป็นองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (ASEAN Action Plan on CSR Promotion) ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (Senior Officials Meeting on Social Welfare and Development: SOMSWD) ที่ประเทศบรูไน และรับทราบโดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553
การจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเดียวของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ภายในปี 2558 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดกิจกรรมนำร่องด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “CSR Roadmap: Thailand to ASEAN” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จำนวนกว่า 100 คน เพื่อประมวลข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2554