ทำ CSR แบบมาตรฐานโลก ISO
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) เป็นองค์กรอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ (international standard) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ประกอบด้วยสมาชิก 163 ประเทศ และมีมาตรฐานที่ประกาศเผยแพร่แล้วกว่า 18,400 ฉบับ ครอบคลุมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ISO 26000 ได้ประมวลข้อแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มาจากคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียจากภาคีต่างๆ มากที่สุดและกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา (จาก 99 ประเทศสมาชิกและ 42 องค์กรร่วมทำงาน) พัฒนาเป็นนิยาม ประเด็น และแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับองค์กร ในการใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมจากเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่ การกระทำที่ดี (good actions)
เนื้อหาในมาตรฐาน ISO 26000 ประกอบด้วยหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม 7 ประการ คือ หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หลักความโปร่งใส หลักการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม หลักการเคารพถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย หลักการเคารพต่อหลักนิติธรรม หลักการเคารพต่อหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และหลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
ส่วนขอบเขตของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ระบุไว้ในมาตรฐาน จะครอบคลุมใน 7 เรื่องหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน
สำหรับแนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กรมีอยู่ด้วยกัน 7 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ของลักษณะกิจการกับความรับผิดชอบต่อสังคม ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แนวปฏิบัติในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม การเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม และการเข้าร่วมในกิจกรรมหรือความริเริ่มที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสมัครใจ
ทั้งนี้ องค์กรควรเริ่มจากการพิจารณาคุณลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคมและความสัมพันธ์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทบทวนหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับนำไปดำเนินการควบคู่กับหลักการเฉพาะในแต่ละเรื่องหลัก
ในการวิเคราะห์เรื่องหลักและประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องและการตอบสนองความคาดหวังนั้น องค์กรควรพิจารณาศึกษาวิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานใน 2 เรื่อง คือ การยอมรับในบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้เขตอิทธิพลขององค์กร การระบุและการร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ
เมื่อองค์กรเข้าใจในหลักการ สามารถระบุเรื่องหลักและประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องได้แล้ว องค์กรควรค้นหาวิธีในการผนวกหรือบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าในกระบวนการตัดสินใจและกิจกรรมทั่วทั้งองค์กร
การประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 26000 องค์กรควรคำนึงถึงความหลากหลายที่มีผลมาจากโครงสร้างองค์กร ประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมือง และกฎหมาย รวมทั้งความแตกต่างของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากลด้วย
[Original Link]