องค์กรได้อะไรจากการทำ ISO 26000
เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลก รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรต่างๆ รับรู้ว่ามีความจำเป็นและมีประโยชน์ จากการที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบ ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ถึงสมรรถนะและขีดความสามารถที่องค์กรจะดำเนินงานได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิผล ความตระหนักที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งสุขภาวะของระบบนิเวศ ความเสมอภาคทางสังคม และการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ซึ่งจากนี้ ไปทุกๆ กิจกรรมขององค์กรจำต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ ไปพร้อมๆ กับการถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) โดยคณะกรรมการด้านนโยบายผู้บริโภค จึงได้มีความคิดริเริ่มในการจัดทำร่างข้อแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อปี 2544 และมีการประชุมภาคีผู้มีส่วนได้เสียในปี 2547 จนนำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO/WG SR) ในปลายปีเดียวกัน เพื่อพัฒนาเป็นมาตรฐาน ISO 26000 และใช้เวลาร่างเกือบ 10 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ISO 26000 เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมแก่องค์กรทุกประเภททั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนา ในการสนองตอบความต้องการของสังคมที่ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น กับการประกอบการอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
ในมาตรฐาน ISO 26000 ประกอบด้วยข้อแนะนำที่ให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติโดยสมัครใจ มิใช่ข้อกำหนด (requirements) ดังเช่นที่ปรากฏในมาตรฐานการรับรอง อาทิ ISO 9001 หรือ ISO 14001 ด้วยเหตุนี้ ISO 26000 จึงมิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้ หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง (certification)
มาตรฐาน ISO 26000 นั้น มีจุดประสงค์ที่ต้องการเกื้อหนุนองค์กรเข้ามีส่วนร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีเจตนาที่จะยุยงส่งเสริมให้องค์กรดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย ด้วยตระหนักว่าการปฏิบัติตามกฎหมายถือเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของกิจการและเป็นส่วนที่จำเป็นของความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ยังมีความต้องการที่จะส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเดียวกันในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และใช้เป็นส่วนเติมเต็ม มิใช่เพื่อนำไปใช้ทดแทนเครื่องมือและความริเริ่มอื่นๆ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
การนำ ISO 26000 ไปใช้จะช่วยสร้างให้เกิดทั้งการรับรู้และสมรรถนะการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมทั้งการเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ชื่อเสียง ความสามารถในการดึงดูดและเหนี่ยวรั้งแรงงาน / สมาชิก ลูกค้า / ผู้ใช้ ให้คงอยู่กับองค์กร การธำรงรักษาขวัญกำลังใจ ข้อผูกพัน และผลิตภาพของพนักงาน ทัศนะที่เป็นบวกของผู้ลงทุน เจ้าของ ผู้บริจาค ผู้อุปถัมภ์ และแวดวงการเงิน ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีกับบริษัท ภาครัฐ สื่อ ผู้ส่งมอบ ผู้ร่วมงาน ลูกค้า และชุมชนที่สถานประกอบการตั้งอยู่
เหนือสิ่งอื่นใด การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น พุ่งเป้าไปที่การสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเทขององค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
[Original Link]