เลียบเวที CSR Summit สิงคโปร์
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีงาน International CSR Summit 2011 ที่สิงคโปร์ ปีนี้ใช้ธีมว่า CSR: Values for Sustainability ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าร่วม เลยขอนำเนื้อหาที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในวงการ CSR มาเล่าสู่กันฟังครับ
ในช่วงเช้าของวันแรกเป็นเรื่อง CSR & Shareholder Value: Financial Incentives for CSR ที่อยู่ในกระแสไม่ต่างจากบ้านเรา เนื่องจากการผลักดันเรื่อง CSR ในปัจจุบันมาจากผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดาเลขานุการบริษัทหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทจดทะเบียนต่างทราบสถานการณ์ดีว่า CSR และ Sustainability ได้กลายเป็นหัวข้อหรือคำถามของผู้ลงทุน นอกเหนือจากเรื่องตัวเลขกำไร อัตราการเติบโต ฯลฯ
แนวทางการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในวันนี้ จึงให้ความสำคัญกับประเด็นของคุณค่าร่วม การผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ การสร้างความเข้าใจและข้อผูกพันร่วมกับพนักงาน และการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่การเงินในรายงานประจำปี เป็นต้น
ในช่วงบ่ายต่อด้วยเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ คือ Reporting on CSR Performance เพราะตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ได้ออกแนวทางการรายงานข้อมูล CSR สำหรับบริษัทจดทะเบียนไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ตัดหน้าตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีแผนจะออกแนวทางดังกล่าวในช่วงสิ้นปีนี้) โดยตัวเลขบริษัทจดทะเบียนใน SGX ที่มีการจัดทำรายงาน CSR ในปัจจุบันมีอยู่ราว 9%
สำหรับแนวทางการรายงานของ SGX มีอยู่ 6 หมวด ได้แก่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท กรอบการบริหารความเสี่ยงในภาพรวม ระบบการวัดผลการดำเนินงาน การรายงานความยั่งยืน แนวทางที่เป็นสากล และการประกันแบบรายงานความยั่งยืนโดยบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจากนี้ไปจะมีบริษัทสิงคโปร์ที่จัดทำรายงาน CSR เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้จะมิใช่ข้อกำหนดภาคบังคับ แต่ก็เป็นสัญญาณชัดแจ้งที่เกิดขึ้นในตลาดทุนที่สำคัญทั่วโลก
ในช่วงเย็น มีการพูดถึงในหัวข้อ Incorporating CSR into Supply Chain Management ที่กระทบและเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจอย่างถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งเอสเอ็มอีที่ค้าขายหรือทำธุรกรรมกับบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งผลักดันเรื่อง CSR ไปยังองค์กรรอบข้างทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เพราะไม่ต้องการมีชื่อเสียหายหรือสูญเสียภาพลักษณ์จากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของคู่ค้าของตน (เป็นหนึ่งในทิศทางและแนวโน้ม CSR ในปีนี้ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ระบุไว้ว่าจะเกิด Supply Class ขึ้นใน Supply Chain)
ในเวทีนี้ มีผู้บริหารจาก Swire Pacific Offshore ได้แนะนำแนวทางการตรวจประเมินผู้ส่งมอบ (Suppliers Audit) ที่น่าสนใจไว้ 6 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มจากการจัดอันดับความสำคัญผู้ส่งมอบทั้งหมดขององค์กร แล้วทำการคัดเลือกกลุ่มที่อยู่ในอันดับต้นๆ มา 5-10% เพื่อดำเนินการประเมินความเสี่ยง (ด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ) นำมาเรียงลำดับใหม่ตามความเสี่ยงจากมากไปน้อย โดยเลือก10 อันดับแรกมาเพื่อเข้าตรวจประเมินภาคสนามในสถานประกอบการ และเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาผู้ส่งมอบกลุ่มดังกล่าว (หรือหาผู้ส่งมอบกลุ่มใหม่มาทดแทน ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อแนะนำ)
สำหรับในวันที่สอง ช่วงเช้าเป็นเรื่อง Role of Media on CSR ตอนที่น่าสนใจเป็นวิทยากรจาก Media Alliance ได้พูดถึงตัวอย่างการใช้สื่อในการรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องไม่ได้หวังผลให้เกิดเพียงการสร้างการรับรู้ (Raise Awareness) เพราะลำพังเพียงการรับรู้ มิได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ต้องทำให้ได้อีก 3 ขั้น คือ การเปลี่ยนพฤติกรรม (Change Behavior) การสร้างอุปสงค์ในฝั่งผู้บริโภค (Create Consumer Demand) ที่จะเป็นแรงขับดันธุรกิจให้ดำเนินกิจกรรมในฝั่งผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างอุปสงค์ทางสังคม (Create Social Demand) ที่กดดันให้ภาครัฐออกข้อกำหนดหรือเงื่อนไขสำหรับการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
อีกตอนที่น่าสนใจในช่วงสื่อกับ CSR คือ ข้อแนะนำจากนักข่าวของ The Straits Times ในการส่งข่าว CSR อย่างไร ให้ได้ลงเผยแพร่ ซึ่งก็เป็นมุมมองจากนักข่าวที่ได้รับข่าว CSR จำนวนมหาศาลในแต่ละวัน มาถ่ายทอดดุลยพินิจ (ภาคปฏิบัติ) ในการเลือกข่าวที่จะเผยแพร่ (หลังจบช่วง มีผู้ฟังไปขอนัดกินกาแฟกับนักข่าวผู้นี้ตรึม ขอบอก)
ช่วงสายต่อด้วยเรื่อง Business and Human Right มีการนำเสนอ Guiding Principles on Business and Human Rights: ‘Protect, Respect and Remedy’ Framework ซึ่งเป็นผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยที่นำโดย Professor John Ruggie แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ใช้ระยะเวลาวิจัยกว่า 6 ปี และได้รับการรับรองจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก 47 รัฐประเทศ (รวมประเทศไทย) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติ
ในช่วงบ่ายถึงเย็นแบ่งเป็นห้องย่อย 6 ห้อง โดยเชิญวิทยากรในกลุ่มประเทศอาเซียนมานำเสนอกรณีศึกษาและประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ อาทิ การลงทุนทางสังคม กรณีศึกษาจากผู้ได้รับรางวัล CSRขององค์กรผู้จัด บทบาทของภาคธุรกิจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาความยากจน การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน และการต้านทุจริต
ยังมีเนื้อหาอีกหลายช่วงหลายตอนที่มีความน่าสนใจโดยเฉพาะช่วง Keynote Speech ของวัน จาก Dr.Wayne Visser แห่ง CSR International และ Dr.Fons Trompenaars แห่ง THT Consulting แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัด จึงต้องยุติด้วยความจำเป็น คิดว่าในเร็ววันนี้ทางผู้จัด คือ Singapore Compact คงจะมีการนำเอกสารของวิทยากรขึ้นในเว็บไซต์ http://bit.ly/csrsummit ลองติดตามกันนะครับ
[Original Link]