Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ภัยพิบัติกับการพัฒนาที่ยั่งยืน


สถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย นับจากเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ปัจจุบัน มีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู 56 จังหวัด และยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่ 9 จังหวัด โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงาน/ โครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมแล้วเป็นเงินกว่าหกหมื่นล้านบาท

อุทกภัยได้สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม พื้นที่หลายประเทศในเอเชียถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายจากผลกระทบทางอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็น บังคลาเทศ เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย เนปาล ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และประเทศไทย ล้วนเคยประสบกับความสูญเสียจากอุทกภัยมาแล้วทั้งสิ้น

การชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับในการจัดการกับความเสี่ยงจากอุทกภัย โดยเฉพาะในบริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เช่น พื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ปากแม่น้ำ พื้นที่เมือง และบริเวณชายฝั่ง ควรต้องทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้รับประโยชน์สูงกว่าในระยะยาว

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต้องอาศัยคำยึดมั่นและข้อผูกพันระยะยาว ผนวกกับกระบวนการในการวางแผนการพัฒนา ซึ่งหากปราศจากเจตจำนงและข้อผูกมัดทางการเมืองในการขับเคลื่อนการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่มุ่งลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและพิบัติภัยอื่นๆ แล้ว ความทุ่มเทในการพัฒนาประเทศก็จะถูกคุกคามเสียเอง

ในรายงานของ UNDP เรื่อง “Reducing Disaster Risk: A Challenge for Development” ได้ชี้ให้เห็นความเชื่องโยงระหว่างภัยพิบัติกับการพัฒนาไว้ ดังนี้

ความเชื่องโยงระหว่างภัยพิบัติกับการพัฒนา
 การพัฒนาทางเศรษฐกิจการพัฒนาทางสังคม
ภัยพิบัติที่จำกัดการพัฒนา
การทำลายสินทรัพย์ถาวร
การสูญเสียความสามารถในการผลิต การเข้าถึงตลาด หรือ ปัจจัยวัตถุดิบ
ความเสียหายทางการคมนาคม การสื่อสาร หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
การดำรงชีพ เงินออม และทุนทางกายภาพถูกกัดกร่อน
การทำลายสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา และบุคลากร
การเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือการย้ายถิ่นฐานของผู้มีบทบาทสำคัญในสังคม ที่นำไปสู่การกร่อนของทุนทางสังคม
การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ
การดำเนินวิถีการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืน สร้างให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม บนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่ที่มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่และการทำงานที่ไม่ปลอดภัย หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม
เส้นทางการพัฒนาบ่มเพาะบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแยกตัวจากสังคม หรือการกีดกันทางการเมือง
การพัฒนาที่ลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ
การเข้าถึงที่เพียงพอในเรื่องน้ำดื่ม อาหาร การจัดการของเสีย และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มขึ้น
การค้าและเทคโนโลยี สามารถลดความยากไร้
การลงทุนในกลไกด้านการเงิน และการประกันสังคม สามารถใช้เป็นเครื่องมือลดความเปราะบาง
การสร้างความปรองดองในชุมชน ด้วยการให้ความสำคัญกับปัจเจกหรือกลุ่มสังคม (เช่น สตรี) ที่ถูกกีดกัน เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาและอนามัย จะช่วยให้มีความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องการจัดการภัยพิบัติจากลำพังการบรรเทาทุกข์ ไปสู่การเตรียมความพร้อมและการลดผลกระทบ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการยอมรับในการให้ความสำคัญกับการผนวกข้อปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเข้าไว้ในแผนการพัฒนามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการผนวกหรือทำให้ข้อปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงกลายเป็นเรื่องหลักในแผนการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผลสำเร็จของการพัฒนาสามารถดำเนินต่อไปในมุมที่จะขยายวงของการพัฒนา มากกว่าในมุมที่จะไปลดทอนการพัฒนาจากเหตุภัยพิบัติ ดำเนินไปด้วยความอุตสาหะอย่างผสมผสานสอดคล้องระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่มีความปลอดภัยมากขึ้นและมีความยั่งยืนในท้ายที่สุด


[Original Link]