Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

บูรณาการ CSR แบบฉบับ ISO 26000

ณัฐนันทพงศ์ บัวบุตร์

ผ่านพ้นมาสองปีหลังจากการประกาศใช้อย่างเป็นทางการของมาตรฐาน ISO26000 ว่าด้วยเรื่องแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ที่หลายๆ องค์กร ได้มีการปรับตัวเพื่อดำเนินการตามข้อแนะนำของมาตรฐานฉบับนี้


เมื่อพูดถึงมาตรฐานฉบับนี้หลายท่านก็มักจะคุ้นเคยกับ 7 หัวข้อหลัก (Core Subject) ในหมวดที่ 6 เสียมากกว่า ซึ่งหากศึกษามาตรฐานอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่าเจตนารมณ์ของมาตรฐานมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้ขับเคลื่อนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งตัวมาตรฐานได้มีการแนะนำไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 7 การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร (Guidance on integrating social responsibility throughout an organization) ที่มักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนักในช่วงที่ผ่านมา

ในหมวดนี้ สิ่งแรกที่มาตรฐานแนะนำไว้ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ของลักษณะกิจการกับความรับผิดชอบต่อสังคม” คือ ให้องค์กรรู้จักตัวเองหรือ “รู้เรา” ด้วยการทบทวนตัวเองเสียเองก่อนว่า ตัวองค์กรประกอบธุรกิจประเภทใด อยู่ที่ไหน วิสัยทัศน์พันธกิจ และทัศนคติของผู้นำเป็นอย่างไร

เมื่อองค์กรรู้จักตัวเองแล้วจำเป็นต้อง “รู้เขา” ด้วยเช่นกัน ซึ่งในหัวข้อ “ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” ได้แนะนำว่า ก่อนการขับเคลื่อนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมใดๆ องค์กรควรระบุให้ได้ว่าองค์กรเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียใดบ้าง มีลำดับความสำคัญเป็นอย่างไรและต้องไม่ลืมที่จะเข้าไปสานสัมพันธ์เพื่อหาความต้องการหรือความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ ซึ่งจะนำไปสู่การระบุประเด็น และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) และมีนัยสำคัญ (Significance) ต่อองค์กร

ในหัวข้อ “แนวปฏิบัติในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร” มาตรฐานแนะนำให้องค์กรมีการประกาศทิศทาง และแนวทางในการขับเคลื่อนโดยผู้นำองค์กร โดยถือเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการให้เกิดประสิทธิผลและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การจะดำเนินการเช่นนี้ได้การสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคมในหัวข้อ “การสื่อสารที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม” ตามข้อแนะนำจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ เสริมหนุนด้วยหัวข้อ “การเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งองค์กรสามารถดำเนินการได้หลายวิธี อาทิ การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมต่อสาธารณะ

อาทิ การจัดทำรายงานความยั่งยืน (GRI) พร้อมกับหัวข้อ “การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม” ขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้เกิดความสอดคล้องต่อสภาวการณ์

สุดท้าย มาตรฐานแนะนำให้องค์กรรู้จักที่จะเลือกแนวปฏิบัติต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพิ่มเติม และประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่น ในหัวข้อ “การเข้าร่วมในกิจกรรมหรือความริเริ่มที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสมัครใจ

ทั้งนี้ หากองค์กรได้มีการดำเนินการครบถ้วนใน 7 หัวข้อดังกล่าว ก็เชื่อมั่นได้ว่า มีการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบฉบับ ISO 26000 อย่างแท้จริง

องค์กรธุรกิจที่สนใจนำแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน ISO 26000 มาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ สามารถเข้าร่วมในโครงการ “แนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000” ที่ทางสถาบันไทยพัฒน์ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ริเริ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้ร่วมโครงการแล้วกว่า 100 กิจการ


[Other Link]