มรดกทาง CSR ของ อ.ไพบูลย์
แม้ผมจะได้ยินชื่อท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สมัยที่ท่านเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2523 แต่ผมได้มารู้จักงานของท่านและได้มีส่วนทำงานอยู่ชั้นปลายแถวในโครงการที่ท่านได้ริเริ่มไว้จริงๆ ก็ตอนที่ท่านเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บุกเบิกงานสินเชื่อเพื่อการพัฒนาชนบทและกองทุนเพื่อสังคม (Social Investment Fund) จนกระทั่งในปี 2547 จึงได้เข้ามาช่วยทำงานเต็มตัวภายใต้ร่มของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการอยู่ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ไพบูลย์ได้ออกมาทำงานในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทฯ แบบเต็มเวลาตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเดิมงานของมูลนิธิฯ เป็นการนำร่องวิธีการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน แต่ท่านอาจารย์ไพบูลย์เห็นว่า งานของมูลนิธิฯ ควรทำงานเชิงผลักดันนโยบาย (Policy Advocacy) ด้วย
“วิธีทำของผมไม่ใช่แบบไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือประท้วงคัดค้านนโยบาย หากแต่ไปศึกษาความเหมาะสมให้ หรือไปช่วยทำให้เลย เช่น ในช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (ปี 2535-2539) ซึ่งมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สภาพัฒน์” ได้มอบหมายให้ผมและคณะ เป็นผู้รับผิดชอบจัดกระบวนการระดมความคิดจากนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม เข้าร่วมยกร่างแผนพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบวิธีการระดมความคิดให้เป็นการวางแผนแบบประชาชนมีส่วนร่วมสูง และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้คน ชุมชน และสังคมมีความเข้มแข็ง” (คุยเรื่อง...ชีวิตธรรมดา ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, 2554)
ผลจากการจัดทำแผนฯ 8 ด้วยกระบวนการใหม่ในครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้แผนพัฒนาประเทศ ที่เคยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง มาให้คนและสังคมเป็นตัวตั้งหรือเป็นศูนย์กลาง ส่วนเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ
โดยก่อนที่จะมีมูลนิธิบูรณะชนบทฯ องค์กรเอ็นจีโอส่วนใหญ่จะทำงานในลักษณะสังคมสงเคราะห์ องค์กรที่จะลงไปพัฒนาชนบท พัฒนาชุมชนแบบเป็นระบบยังไม่มี จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า มูลนิธิบูรณะชนบทฯ เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานพัฒนาอย่างเป็นระบบและเป็นกิจจะลักษณะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมักได้รับการกล่าวว่าเป็น “First NGO in Thailand” องค์กรการกุศลต่างๆ ที่เกิดมาก่อนมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ก็เรียกได้ว่าเป็นเอ็นจีโอเหมือนกัน แต่เป็นลักษณะ “Welfare NGO” ในขณะที่มูลนิธิบูรณะชนบทฯ เป็น “Development NGO” บรรดาศิษย์เก่ามูลนิธิบูรณะชนบทฯ หลายท่านได้กลายเป็นผู้นำเอ็นจีโอและเป็นนักพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่
ผลงานชิ้นสำคัญของท่านอาจารย์ไพบูลย์ที่ได้ฝากไว้ในช่วงหลังอีกเรื่องหนึ่ง คือ การผลักดันให้มีการก่อตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้เจตนารมณ์ในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ ในปี 2550 ซึ่งปัจจุบัน CSRI ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่หน่วยงานในภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างกว้างขวาง
คติในงานพัฒนาที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ได้ถอดความจากแนวคิดของ ดร.วาย ซี เจมส์ เยน ผู้จุดประกายความคิดในการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทฯ เมื่อปี 2510 เอาไว้เป็นภาษาไทยอย่างสละสลวย ดังนี้
“ไปหาชาวบ้าน
อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา
วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา
เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี
สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ
ไม่ใช่เพื่ออวด แต่เพื่อเป็นแบบแผน
ไม่ใช่สิ่งละอันพันละน้อย แต่เป็นระบบ
ไม่ใช่ทำทีละอย่าง แต่ใช้หลักผสมผสาน
ไม่ใช่ตามใจ แต่ช่วยให้เปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่โอบอุ้ม แต่ช่วยสร้างพลัง”
ขอสดุดีผลงานของท่านอาจารย์ไพบูลย์ที่ได้ฝากไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านสืบไป
[Original Link]
[Original Link]