Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เส้นทางสร้างความยั่งยืน ฉบับ GRI

ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์

การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจในทิศทาง กระบวนการ และผลการดำเนินงาน CSR ขององค์กรต่อสาธารณะ มาตรฐานข้อแนะนำและแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ อาทิ เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม (สำนักงาน ก.ล.ต.) มาตรฐาน ISO 26000 ที่ได้ระบุให้การจัดทำรายงาน CSR เป็นแนวทางที่สำคัญในการสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคมแก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยกรอบการรายงานที่ถูกอ้างถึงและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ Global Reporting Initiative (GRI)

GRI ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนขึ้น ตั้งแต่ปี 2543 (ฉบับ G1) และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันมีองค์กรมากกว่า 3,600 แห่งทั่วโลก ได้จัดทำรายงานตามกรอบ GRI แผยแพร่แล้วกว่า 8,500 ฉบับ

ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การจัดทำรายงานตามแนวทางของ GRI ได้รับความสนใจจากหลายองค์กรในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายองค์กรที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการรายงานตามตัวชี้วัดที่พยายามเฟ้นหาตัวชี้วัดเฉพาะที่สามารถระบุข้อมูลได้มาเผยแพร่ แทนที่จะเลือกตัวชี้วัดที่มีนัยสำคัญ (Significant) และมีความเกี่ยวเนื่อง (Relevant) กับองค์กรมาเป็นเนื้อหาหลักของการรายงาน

GRI จึงได้พัฒนาเครื่องมือการทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ให้แก่องค์กรที่จะจัดทำรายงานตามกรอบ GRI ได้คัดกรองตัวชี้วัดที่มีนัยสำคัญ และความเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ มาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินงาน การจัดทำกลยุทธ์ การดำเนินงานตามตัวชี้วัด จนมาถึงการได้ข้อมูลผลการทำงานตามตัวชี้วัด สำหรับใช้ในการจัดทำรายงานในขั้นสุดท้าย

เนื่องจากตัวชี้วัดทั้ง 55 ตัวหลักและ 29 ตัวรองของ GRI ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกคัดสรรในบริบทของความยั่งยืน (Sustainability Context) ดังนั้น การดำเนินงานตามตัวชี้วัดเหล่านี้ (ไม่ต้องครบทุกตัวในคราวเดียว) จึงเป็นคำตอบที่ทำให้องค์กรที่มีการรายงานตามกรอบ GRI สามารถกำกับดูแลการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง


เพื่อให้ ‘กระบวนการรายงาน’ ตามกรอบ GRI ถูกนำมาใช้เพิ่มคุณค่าใน ‘กระบวนการดำเนินงาน’ ขององค์กรสู่ความยั่งยืน GRI ได้จำแนกกระบวนการรายงานออกเป็น 5 ระยะ โดยเริ่มที่เตรียมการ (Prepare) เพื่อปรับวางกระบวนภายในให้พร้อมเริ่มต้น ด้วยความเข้าใจและสามารถระบุถึงแง่มุมที่สำคัญที่สุดขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากนั้น คือ เชื่อมร้อย (Connect) ด้วยการพูดคุยหารือ กำหนดข้อยึดมั่นและข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียหลักๆ ทั้งในและนอกองค์กร รวมทั้งขอความเห็นประกอบการตัดสินใจต่อการจัดทำรายงานที่เหมาะสม

ต่อมาคือ กำหนด (Define) เป้าประสงค์และเนื้อหารายงาน ซึ่งอาจมีการปรับกระบวนการภายในให้เอื้อต่อการจัดทำรายงานตามแง่มุมที่ถูกระบุโดยผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร แง่มุมที่ถูกแนะนำโดยผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร และแง่มุมที่ตกหล่นจาก 2 แหล่งแรก แต่มีความสำคัญ (เมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติที่สากลยอมรับ) และถูกเสนอให้รวมไว้โดยคณะทำงาน CSR

หลังจากนั้น คือ เฝ้าสังเกต (Monitor) ติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด สำหรับองค์กรที่เพิ่งเริ่มและยังไม่คุ้นเคยกับการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ควรจะสร้างช่องทางในการสื่อสารหรืออธิบายสิ่งที่ต้องดำเนินการและผลที่คาดหวังแต่เนิ่นๆ และอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่รอให้ถึงนาทีสุดท้ายและพบว่าไม่ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ

ขั้นสุดท้ายจึงเป็นการจัดทำรายงาน (Report) เผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผลกระทบจากการดำเนินงานอันส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่องทางที่เหมาะสมตามแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ การใช้ผู้สอบทานภายนอกในขั้นตอนนี้ หรืออาจเริ่มกระบวนการมาก่อนหน้านี้ จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือของตัวรายงานมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งรายงานที่มีคุณภาพ และทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน สะท้อนผ่านกระบวนการ 5 ระยะที่ GRI ได้แนะนำไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มิใช่เพียงการรวบรวมกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่องค์กรมีอยู่ แล้วพยายามเทียบเคียงกับตัวชี้วัดที่เข้าพวก เพื่อใช้สำหรับรายงาน เป็นเหตุให้รายงานของบางองค์กร เผยแพร่ข้อมูลไม่ตรงกับตัวชี้วัด (ด้วยการพยายามตีความตัวชี้วัดให้เข้ากับข้อมูลที่มีอยู่)

การจัดทำรายงานตามกรอบ GRI จึงเป็น ‘เส้นทาง’ ที่จะนำพาให้องค์กรสามารถก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ มากกว่าจะเป็นเพียงการให้ได้มาซึ่ง ‘เล่มรายงาน’ ที่จัดทำเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรเท่านั้น


[Other Link]