Rio+20 กับอนาคตที่พึงปรารถนา
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน) โดยมีผู้นำประเทศ/หัวหน้ารัฐบาล/หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศเข้าร่วมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในการประชุมเตรียมการ การประชุมหลัก และกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ซึ่งจัดโดยองค์กรต่างๆ ในห้วงเวลาของการประชุม Rio+20 ครั้งนี้ ทั้งสิ้นราว 50,000 คน
ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันจันทร์ โดยลำพังกิจกรรมคู่ขนานซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อที่จัดให้เข้ากับธีมของการประชุม ซึ่งได้แก่เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีให้เลือกมากกว่า 500 กิจกรรมเข้าไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดกิจกรรมสัมมนาสำหรับผู้ที่คลั่งไคล้เรื่องดังกล่าวได้จนลืมเวลาทีเดียว แม้แต่คณะของผมเองก็ได้กระจายไปเข้าร่วมตั้งแต่เช้ายันค่ำทุกวัน
ไฮไลท์หนึ่งของกิจกรรมที่ผมได้เข้าร่วม คือ การประชุมเต็มคณะ (Plenary Meeting) เพื่อให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์ (Outcome Document) การประชุม Rio+ 20 ที่ใช้ชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งในวันพรุ่งนี้เอกสารฉบับดังกล่าวจะถูกพิจารณากลั่นกรองและให้การรับรองโดยผู้แทนในแต่ละประเทศ และจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนบทใหม่ ที่จะถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางนับจากนี้ไปอีก 20 ปี
กว่าที่เอกสารผลลัพธ์จะได้รับความเห็นชอบนั้น ได้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขในระหว่างกระบวนการเจรจาต่อรองที่เข้มข้นอย่างยิ่ง จากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในสารัตถะและท่าทีของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเนื้อหาเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งในการประชุมเต็มคณะเมื่อวันอังคารก็ยังร้อนระอุไปทั้งห้องประชุม
เหตุผลหลักของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ ประการแรก ไม่เชื่อว่าการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวตามกรอบเนื้อหาที่เสนอ จะสามารถขจัดความยากจนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ประการต่อมา ไม่เห็นความชัดเจนของกลไกและวิธีการที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และประการสุดท้าย ไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและกลุ่มที่สำคัญๆ (Major Groups) ได้เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาต่อรองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (ดูความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการจัดทำเอกสารคำร้องที่มีชื่อว่า “The Future We Don’t Want” ได้ที่ http://bit.ly/rio20petition)
อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดหมายว่า ที่ประชุม Rio+20 ในวันพรุ่งนี้ จะพิจารณาให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ส่วน ได้แก่ วิสัยทัศน์ร่วม การยืนยันพันธกรณีทางการเมือง เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน กรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบการดำเนินงานและการติดตามผล วิธีการนำไปปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงไม่ต่างจากฉบับที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดของเอกสารผลลัพธ์ฉบับล่าสุดได้ที่ www.uncsd2012.org)
และนับว่าโชคดีที่ผมได้มีโอกาสรับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนในคณะสังเกตการณ์ในสังกัดกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมในการประชุมหลักด้วย เลยจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของการประชุมสำคัญครั้งนี้เพื่อนำมาถ่ายทอดในโอกาสต่อไป
[Original Link]